วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กฟผ. - ฟฟล. จัดเสวนาสื่อมวลชนภาคอีสาน เล่าขานความมั่นคงไฟฟ้า ลาว - ไทย 5 ทศวรรษ

กฟผ. - ฟฟล. จัดเสวนาสื่อมวลชนภาคอีสาน เล่าขานความมั่นคงไฟฟ้า ลาว - ไทย 5 ทศวรรษ
กฟผ. – ฟฟล. จัดสัมมนาสื่อมวลชนอีสาน รำลึกเรื่องราว ร่วมพัฒนาระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศให้มีความเข้มแข็ง เสริมให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง โดยกลางเดือนธันวาคมทั้งสองประเทศจะมีการจัดงานวันครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไฟฟ้าลาว - ไทย

วันที่ 4 ธันวาคม 2561 นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาสื่อมวลชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมร่วมเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาหัวข้อ “5 ทศวรรษ ความสัมพันธ์ไฟฟ้า ลาว-ไทย” โดยมี ท่านดวงสี พาระยก รองผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) นายปรีชา พันธ์นิกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ร่วมเสวนา และนายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ ดำเนินรายการ เพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่าง ลาว-ไทย ที่มีความสัมพันธ์มายาวนานถึง 50 ปี ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ ก่อนที่จะมีการจัดงานวันครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไฟฟ้า ลาว – ไทย อย่างเป็นทางการช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยมีสื่อมวลชนอีสานและผู้สนใจเข้าร่วม  การสัมมนา ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มีความสัมพันธ์ด้านพลังงานไฟฟ้ามาอย่างยาวนาน โดยเริ่มจากรัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือการก่อสร้างเขื่อนน้ำงึม สปป.ลาว โดยสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าและปูนซีเมนต์สำหรับใช้ในงานก่อสร้าง เนื่องจากเขื่อนน้ำงึมอยู่ห่างไกลจากนครเวียงจันท์กว่า 80 กิโลเมตร โดย สปป.ลาว คืนผลตอบแทนเป็นพลังงานไฟฟ้าและการขายไฟฟ้าที่เหลือใช้จากภายใน สปป.ลาว ให้กับไทยในราคาที่เหมาะสม จากนั้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2511 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชอาณาจักรไทย และสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา แห่งราชอาณาจักรลาว ทรงกดปุ่มเปิดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งไทยไปฝั่งลาวที่ จ.หนองคาย นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างสองประเทศที่ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน 
ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่าง ลาว-ไทย ช่วยเสริมให้ระบบไฟฟ้าทั้งสองประเทศมีความมั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้การพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศโดยเฉพาะภาคอีสานของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลไทยโดย กฟผ. มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ทั้งจาก รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ เป็นจำนวนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ฉบับที่ 5 เพิ่มกรอบปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ไทยเป็น 9,000 เมกะวัตต์ สำหรับโครงการที่มีการซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ หงสาลิกไนต์ น้ำงึม 2 เทิน-หินบุน เทิน-หินบุน ส่วนขยาย น้ำเทิน 2 และห้วยเฮาะ และโครงการที่ ลงนาม PPA และอยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ ไซยะบุรี น้ำเทิน1 น้ำเงี๊ยบ1 และเซเปียน เซน้ำน้อย รวมทั้งมีการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงเพื่อรับพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เข้ามายังประเทศไทยบริเวณพื้นที่จังหวัดเลย หนองคาย อุบลราชธานี นครพนม น่าน ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงที่เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายไฟฟ้าด้วย







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น