มทร.อีสาน ร่วม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิด "ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน" มุ่งสร้างความเข้มแข็งในทุกมิติและเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ฐานความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย คณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดพิธีเปิด "ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน" ณ คณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี นายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวต้อนรับดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, พลตรี นรธิป โพยนอก รองแม่ทัพภาคที่ 2, พลตรี กิตติศักดิ์ ถาวร เสนาธิการกองทัพภาคที่ 2, พันเอก พงศ์กฤษฏ์ รุจิโยธิน รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 21, นายสัตวแพทย์พศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา, ผู้แทนประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, คุณปิยวรรณ ดาษสกุล ผู้แทนพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา, ศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค:ภาคตะวันออกฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการและแขกที่เข้าร่วมงาน จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง คณบดีคณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวรายงานที่มาและความสำคัญของโครงการ และได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงานและมอบป้ายศูนย์วิจัยชุมชน สำหรับที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน” เกิดขึ้นจากคณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีภารกิจในการสนับสนุนการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชน” ผ่านเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ในพื้นที่หนองระเวียง คณะนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร ที่มีความพร้อมขององค์ความรู้จากผลงานวิจัย และมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่คณาจารย์ในด้านการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา ชุมชนและสังคม จึงรับเป็นผู้ประสานงานการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน โดยใช้ฐานความรู้จากการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้ครอบคลุมอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบศูนย์วิจัยชุมชน โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “สำหรับการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน นับเป็นศูนย์วิจัยชุมชนฯ แห่งที่ 15 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทาง วช. มุ่งหวังว่าจะเป็นศูนย์วิจัยชุมชนฯ ที่สามารถสร้างความเข้มแข็งและแก้ปัญหาของชุมชนได้ เป็นที่ทราบกันดีว่า “โคเนื้อ” เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและภาคอีสาน ปัจจุบันมีจำนวนโคเนื้อกว่า 10 ล้านตัว (ร้อยละ 55 เลี้ยงในภาคอีสาน) และมีเกษตรกรไม่น้อยกว่า 1.4 ล้านครัวเรือน ที่ยึดเป็นอาชีพหลัก ช่วงปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า ราคาโคเนื้อขยับเพิ่มขึ้น แต่ยังพบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ได้กำไรน้อยมาก ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้น ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่สำคัญๆ ได้แก่ เทคโนโลยีการผสมพันธุ์เพื่อผลิตลูกโค/ฟิคไทม์ เอไอ อาหารโคขุนต้นทุนต่ำ เทคนิคการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อโค และอื่นๆ ซึ่งได้ถูกรวบรวมขึ้นโดย ศูนย์วิจัยชุมชนฯ แห่งนี้จะก่อให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และวิถีผลกระทบและความสำเร็จ หรือ impact pathway ขึ้น ในนามของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ขอชื่นชมพลังแห่งความร่วมมือของเครือข่ายวิจัยภูมิภาค: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์ นักวิจัย วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานโคเนื้อทุกๆ ท่าน ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสานในวันนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปแก้ไขปัญหาการผลิตโคเนื้อ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป”
ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนโคเนื้อแห่งภาคอีสาน มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางและเผยแพร่องค์ความรู้ จากงานวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งยังเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกประสบการณ์ และเสริมสร้างทักษะจากงานวิจัยสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืนในอนาคต ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ในการต่อยอด สู่เชิงพาณิชย์ช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน และกระจายรายได้สู่สังคม และเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐในการจัดตั้ง ศูนย์วิจัยชุมชน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
กันตินันท์ เรืองประโคน/รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น