วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2568

กระทรวงกลาโหม ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 2 และ มทร.อีสาน พัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารสนับสนุนด้านความมั่นคงและช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ


กระทรวงกลาโหม ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 2 และ มทร.อีสาน พัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารสนับสนุนด้านความมั่นคงและช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ                            

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ณ กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดย กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ร่วมกับ กองทัพภาคที่ ๒ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ลงพื้นที่ร่วมทดสอบระบบงานวิจัย โครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหมเพื่อเป้าหมายในการสนับสนุนด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหม และเข้าช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่างๆ 

พลโท นรเศรษฐ์ พงษ์เจริญ เจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ตัวแทนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมกับ พลตรี กิตติศักดิ์ ถาวร เสนาธิการกองทัพภาคที่ ๒  และ ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี   รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ นโยบายและแผน ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ลงพื้นที่กองทัพภาคที่ ๒ เพื่อรับชมการทดสอบระบบรถปฏิบัติการสื่อสาร ภายใต้โครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จากทุนวิจัยของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และมี กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม (ทสอ.กห.) หน่วยขึ้นตรงของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถบูรณาการระบบสื่อสารเพื่อสนับสนุนภารกิจให้กับหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม ในภารกิจด้านความมั่นคงและบรรเทาสาธารณภัย ในการป้องกัน รักษาผลประโยชน์สาธารณะ และช่วยเหลือประชาชน  

โครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหม เกิดขึ้นจากอุปสรรคเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ การเกิดอุทกภัย วาตภัย หรือภัยอื่นๆ มักจะตามมาด้วยความล้มเหลวของระบบการสื่อสาร ไม่สามารถได้ข้อมูลที่ทันเวลาจากพื้นที่ประสบภัย จึงทำให้หน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือไม่สามารถได้ข้อมูลที่ทันสมัยในการประเมินสถานการณ์และให้การช่วยเหลือได้ถูกต้องทันเวลา กระทรวงกลาโหม ในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงและอีกหน้าที่หนึ่งคือเป็นผู้ช่วยในงานที่นอกเหนือจากหน้าที่ปกติ เช่น การป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหมขึ้น เพื่อเชื่อมโยงระบบการสื่อสารกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงกลาโหม สำหรับติดตามสถานการณ์และสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งยังประสบปัญหาและอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารเช่นเดียวกัน กระทรวงกลาโหมจึงมีความจำเป็นที่จะวิจัยและพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสารของกระทรวงกลาโหมในการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล การตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาเพื่อการป้องกันและรักษาประโยชน์สาธารณะ และการช่วยเหลือประชาชน 

สำหรับงานวิจัยโครงการพัฒนารถปฏิบัติการสื่อสารเพื่อบูรณาการระบบการสื่อสารขอ กระทรวงกลาโหม โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นผู้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา ด้วยกองทุนของ กสทช. นั้น นับเป็นการพัฒนาระบบสื่อสารที่สามารถบูรณาการได้หลากหลาย ปลอดภัย รวดเร็ว และมีระบบทางเลือกในการใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับเหตุการณ์ สถานที่ และสภาพแวดล้อม สามารถติดตามสถานการณ์และสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล รวมถึงการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา โดยได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ระบบการสื่อสาร อุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง รวมถึงเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า บนรถบรรทุกขนาดเล็กในเชิงพาณิชย์ จำนวน ๑ คัน ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเริ่มปฏิบัติการสื่อสารได้ภายในเวลา ๑๕ นาทีหลังจากเข้าพื้นที่สถานการณ์ และแน่นอนว่า รถปฏิบัติการสื่อสารดังกล่าว จะสามารถบูรณาการระบบสื่อสารเพื่อสนับสนุนภารกิจให้กับหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม ในภารกิจด้านความมั่นคงและบรรเทาสาธารณภัยพร้อมทั้ง ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกระทรวงกลาโหมและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมสามารถติดตามสถานการณ์ในพื้นที่และได้รับข้อมูลสำคัญๆเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ    ณ ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดย กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม (ทสอ.กห.) จะเป็นหน่วยงานแรกๆที่จะเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย สามารถดำเนินการวางแผน ประสานงาน และสนับสนุนงานด้านการสื่อสารต่างๆ ทั้งเรื่องวิทยุ คลื่นความถี่ ภาพถ่ายดาวเทียม รวมถึงการติดตั้งระบบการสื่อสารทางโทรศัพท์ ที่จะสามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที หากได้รถปฏิบัติการสื่อสารฯในงานวิจัยครั้งนี้ มาช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของระบบการสื่อสารในพื้นที่ภัยพิบัติจะทำให้การช่วยเหลือนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

สำหรับการทดสอบระบบในเขตพื้นที่กองทัพภาคที่ ๒ ครั้งนี้ ทำการทดลองใช้งานกับระบบที่ใช้งานจริงของกองการสื่อสาร ศูนย์ดิจิทัล กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม โดยมีการจำลองสถานการณ์และทำการทดสอบแบบเต็มระบบ ในสภาวะการสื่อสารปกติและการจำลองสภาวะการสื่อสารไม่ปกติ เช่น เกิดการคับคั่งของการสื่อสารในพื้นที่ เป็นต้น หลังจากการทดสอบนี้แล้ว จะมีการนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับปรุงให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้งาน และจะทำการทดสอบระบบอีกครั้ง ณ กองพันระวังป้องกัน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงจะมีการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จำนวน ๓หลักสูตร ก่อนจะมีการส่งมอบรถปฏิบัติการสื่อสารในโครงการนี้ให้กับ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดย กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เพื่อใช้ในภารกิจต่อไป

โดย พลโท นรเศรษฐ์ พงษ์เจริญ เจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นงานวิจัยและมีการส่งมอบรถปฏิบัติการสื่อสารฯแล้ว ทาง ทสอ.กห. ผู้รับประโยชน์ในงานวิจัยนี้ จะนำเครื่องมือการสื่อสารดังกล่าวมาใช้งานตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และจะมีการวางแผนงานการซ่อมบำรุงรักษา รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานต่างๆให้มากที่สุด เพื่อนำไปวิเคราะห์ ประเมินผล และนำมาต่อยอดในงานวิจัยครั้งต่อๆ ไปพร้อมเชื่อมั่นว่าผลของงานวิจัยครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาและอุปสรรคต่างๆของระบบการสื่อสารเพื่อสนับสนุนงานด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหม และเข้าช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆได้มากยิ่งขึ้น อีกด้วย












กันตินันท์ เรืองประโคน/รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กฟผ.แม่เมาะ Kick Off ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน เดินหน้ามาตรการเชิงรุกครอบคลุมพื้นที่ 90,000 ไร่

กฟผ.แม่เมาะ Kick Off ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน เดินหน้ามาตรการเชิงรุกครอบคลุมพื้นที่ 90,000 ไร่ วาง 3 แผนการดำเนินงานป้องกันไฟป่าและหมอกควัน พ...