วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กรมควบคุมโรค เตือน “ซิฟิลิส” โรคฮิตที่ติดมากับเซ็กส์ พบสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชน และหญิงตั้งครรภ์ แนะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง หากเสี่ยงให้รีบตรวจและรักษาโดยเร็ว


กรมควบคุมโรค เตือน “ซิฟิลิส” โรคฮิตที่ติดมากับเซ็กส์ พบสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชน และหญิงตั้งครรภ์ แนะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง หากเสี่ยงให้รีบตรวจและรักษาโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส ที่พบอัตราป่วยในปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.ค. 2567) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2561 (จากอัตราป่วย 11 เพิ่มเป็น 28.1 ต่อประชากรแสนคน) เพิ่มขึ้น 3 เท่าในกลุ่มเยาวชน (จากอัตราป่วย 27.9 เพิ่มเป็น 91.2 ต่อประชากรแสนคน) และสถานการณ์การติดเชื้อซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ ปี 2566 เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปี 2561 (จากร้อยละ 0.26 เพิ่มเป็น 1.30) ซึ่งอัตราป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี 5-9 เท่า
ซิฟิลิสติดทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ และติดจากแม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิส แล้วไม่ได้รับการรักษาสู่ทารกในครรภ์ หลังจากได้รับเชื้อในช่วงแรกอาจจะพบแผลที่อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก ลักษณะเป็นแผลสะอาดไม่เจ็บ บริเวณขอบแผลแข็งคล้ายกระดุม ซิฟิลิสระยะที่ 2 จะมีผื่นแดงตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มักไม่คัน มีผื่นในช่องปาก ผมร่วง ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการ แต่เชื้อนั้นยังอยู่ในร่างกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติ ที่สมอง รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงแนะนำให้ทุกคนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทาง เพื่อป้องกันซิฟิลิสและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หากไม่มีอาการ จะทราบว่าติดเชื้อซิฟิลิสก็ต่อเมื่อไปตรวจเลือดเท่านั้น ถ้ามีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง (แม้ไม่มีอาการ) แนะนำให้รีบมาตรวจคัดกรองและเข้าสู่การรักษา เพราะโรคซิฟิลิสรักษาได้ หายขาด พร้อมชวนคู่มาตรวจและรักษาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างรักษา ควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
นอกจากนี้ แนะนำหญิงตั้งครรภ์ให้รีบฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และฝากครรภ์ครั้งแรกไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองซิฟิลิส หากติดเชื้อจะได้รับการรักษาทันที ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ทั้งนี้ คู่ของหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสพร้อมกัน โดยสามารถตรวจคัดกรองได้ที่หน่วยบริการสุขภาพทุกแห่ง ตามสิทธิประโยชน์ สปสช. กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 02 590 3217 , 02 590 3219






กันตินันท์ เรืองประโคน ผู้สื่อข่าวภูมิภาค นครราชสีมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น