วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565

“สส.เอลวิส แบกไม้-สร้างสะพาน ช่วยชาวบ้านห้วยแมง”

 


“สส.เอลวิส แบกไม้-สร้างสะพาน ช่วยชาวบ้านห้วยแมง” ตรวจสะพานตาดหมาหอนพบเศษสวะ ท่อนไม้ เศษไม้ไผ่ กิ่งไม้ ใหญ่-เล็ก ขวางทางน้ำ เหตุตอม่อหลายต้นตั้งถี่ หาหน่วยงานเจ้าของสะพานไม่เจอ ทำน้ำทะลักท่วมเข้าบ้านเกือบ 100 หลังคา เดือดร้อทรัพย์สินเสียหายทุกปี “น้ำไผ่”8 หมู่บ้านเจอน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มรอบ2 ทำถนน สะพานฝายน้ำล้น ระบบประปา พื้นที่เกษตรเสียหาย ปภ.ติดตั้งสะพาน แบรี่ย์ ถนนบ้านห้วยคอม ใช้สัญจรชั่วคราว

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 65 นายศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ สส.อุตรดิตถ์ เขต2 และ น.ส.รสรินทร์  ศรัณย์เกตุ บุตรสาว พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่เยี่ยมราษฎรและตรวจสะพานข้ามลำห้วยพื้นที่ หมู่ 4 บ้านเลิศชัย ต.จริม เชื่อมติดต่อกับพื้นที่หมู่ 3 บ้านดงงาม ต.ท่าปลา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า ช่วงฤดูฝนมักจะมีน้ำป่าไหลหลากมาเป็นประจำทุกปี และในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ได้เกิดน้ำป่าหลากจากแม่น้ำ 2 สาย ประกอบด้วยน้ำในแม่น้ำห้วยเฮี้ยและแม่น้ำห้วยคอม ไหลมาบรรจบกันที่สะพานตาดหมาหอน ได้นำเศษสวะ ประเภทกิ่งไม้ ท่อนไม้ ต้นกล้วย เศษไม้ไผ่ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ไหลลงมาตามแม่น้ำแล้วมากองรวมกันอยู่ที่บริเวณเสาตอม่อใต้สะพานรวมกันเป็นจำนวนมาก เศษไม้ดังกล่าวได้ขวางเส้นทางน้ำ จึงทำให้น้ำไม่ไหลผ่านใต้สะพาน แต่ดันน้ำทั้งหมดให้เอ่อล้นออกไปทางข้างของสะพานทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ส่งผลทำให้น้ำทะลักท่วมถนนและไหลท่วมบ้านเรือนราษฎรพื้นที่หมู่ 3 บ้านดงงาม ต.ท่าปลา และ หมู่4 บ้านเลิศชัย ต.จริม ที่อยู่บริเวณแถวนั้น จำนวน 85 หลังคาเรือน ทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบเป็นประจำทุกปี 

โดยมี นายสมพร  นะถา นายก อบต.ท่าปลา และคณะผู้บริหาร นายวิโรจน์  เขียวมณีวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.จริม พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายอั้น  ทิมา สท.หมู่ 4 ต.จริม และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าท่วมบ้าน รอให้การต้อนรับที่บริเวณสะพาน ทั้งนี้ สท.อั้น  กล่าวชี้แจงถึงปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับเป็นประจำทุกปีว่า เกิดจากแม่น้ำ 2 สาย ที่อยู่เหนือสะพาน ไหลมาบรรจบรวมกัน ทำให้มีปริมาณน้ำมาก และยังมีเศษสวะ กิ่งไม้ ท่อนไม้ ต้นกล้วย เศษไม้ไผ่ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ไหลมาปิดเส้นทางน้ำที่บริเวณใต้สะพาน ทำให้น้ำไม่สามารถไหลรอดใต้สะพานได้ เหตุเพราะเสาตอม่อรองรับสะพานถี่เกิน ปริมาณน้ำจำนวนมากจึงเอ่อล้นทะลักออกด้านข้างของตัวสะพานทั้งซ้ายและขวา ไหลท่วมบ้านของชาวบ้านที่อยู่บริเวณแถวนั้น สาเหตุที่เศษสวะดังกล่าวปิดเส้นทางน้ำใต้สะพาน เพราะว่ามีการก่อสร้างตอม่อระยะถี่ติดกันจำนวนหลายเสา ไม่เหมือนเสาตอม่อปกติที่มีระยะห่างเหมือนกับสะพานทั่วไป จึงอยากให้ นายศรัณย์วุฒิ  สส.อุตรดิตถ์ ช่วยหาทางแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย เนื่องน้ำถูกน้ำท่วมประจำทุกปี  สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือให้มีการทุบทิ้งและสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ ที่ผ่านมาเทศบาลตำบลจริมได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอท่าปลาแล้ว ถูกตีกลับพร้อมแจ้งเหตุผลว่าให้ประสานกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสะพาน ซึ่งยังหาหน่วยงานเจ้าของสะพานไม่เจอ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัณย์วุฒิ  สส.อุตรดิตถ์ เขต2 กล่าวว่า จะต้องแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่เร่งด่วนจะต้องทำทันทีเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และจะขอดูว่าใครเป็นเจ้าภาพ สำหรับเทศบาลตำบลจริมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ หากมีข้อจำกัดจะหาทางช่วยประสานกับเทศบาลตำบลจริมร่วมมือกันเพื่อให้ชาวบ้านมีทางออก ส่วนที่สองจะต้องดำเนินการแบบถาวร ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบนี่คือปัญหา เมื่อตนมาถึงที่นี่แล้วจะไปตามว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้เข้ามาแก้ปัญหาให้กับชาว บ้านในพื้นที่ทั้ง 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน จะได้ไม่ต้องเจอปัญหาน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านซ้ำซากอีก  หลังนายศรัณย์วุฒิ กล่าวเสร็จสิ้นถึงแถวทางการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านในครั้งนี้ ก็ได้รับเสียงตบมือดังกึกก้อง สส.อุตรดิตถ์ เขต2 พร้อมชาวบ้านได้เดินชมจุดตอม่อใต้สะพานพบว่า ยังมีเศษสวะหลงเหลือติดค้างอยู่ใต้สะพานจำนวนหนึ่ง พร้อมรับปากจะหาทางแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในครั้งนี้

จากนั้น นายศรัณย์วุฒิ พร้อมทีมงาน เดินทางไปยังพื้นที่หมู่ 3 บ้านห้วยแมง ต.น้ำไคร้ อ.น้ำปาด เพื่อดูความเดือดร้อนกรณีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และกระแสน้ำยังได้พัดเอาสะพานไม้ที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นมา ใช้สำหรับข้ามแม่น้ำคลองตรอน เพื่อขนพืชผลทางการเกษตรและพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูกไว้ในพื้นที่หมู่เดียวกัน แต่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ได้นำพืชผลทางการเกษตรออกขายสู่ตลาดได้ ปัจจุบันสะพานแห่งนี้ถูกกระแสน้ำป่าไหลหลากพัดเอาส่วนตัวสะพานด้านทิศใต้พังขาดหายไป เมื่อเดินทางมาถึงพบเห็นสภาพพื้นที่การเกษตรถูกน้ำป่าพัดพาผลผลิตได้รับความเสียหาย ต้นไม้ใหญ่ถูกพัดมากองรวมกัน ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้นำเครื่องมือประเภทเลื่อนยนต์ เลื่อยมือช่วยกันตัดไม้ใหญ่ที่ถูกพัดมา ตัดแปรรูปเป็นแผ่นสำหรับปูทำสะพานข้ามแม่น้ำคลองตรอนที่ชำรุดเสียหาย โดยนายศรัณย์วุฒิพร้อมลูกสาวร่วมให้กำลังใจกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ร่วมแบกหามไม้แผ่นแปรรูป ขนไปสร้างสะพานพร้อมชาวบ้าน และลงมือตอกตะปูสร้างสะพานด้วยตัวเอง พบเห็นความเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้รับในวันนี้ จึงรับปากว่าจะหาหนทางประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องช่วยเข้ามาสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กให้แทนสะพานไม้เดิม ยังความประทับใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก 

ขณะเดียวกัน สส.ศรัณย์วุฒิ  พร้อมทีมงาน ได้เดินทางต่อยังพื้นที่บ้านห้วยคอม หมู่ 4 ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด เพื่อรับฟังปัญหาความเดือด้อนของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลน้ำไผ่ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา มีจำนวน 8 หมู่บ้านที่ได้รับความเสียหาย ประกอบด้วย บ้านเรือน 41 หลัง สะพาน ท่อลอดเหลี่ยม 5 แห่ง ถนน 8 สาย ฝายน้ำล้น 1 แห่ง ระบบประปา 8 แห่ง พื้นที่การเกษตร 1,317 ไร่ 463 ราย บ่อปลา 6  เป็ดและไก่ จำนวน 265 ตัว โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)เขต 9 จ.พิษณุโลก ได้ติดตั้งเชื่อมต่อสะพานบ้านห้วยคอม เป็นสะพานแบรี่ย์ โดย ทหาร ม.พัน 7 และแขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่2 ให้การสนับสนุนกำลังคนและเครื่องจักรกล ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้เข้าให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ในส่วนของนายศรัณย์วุฒิ จะขอประสานกับกรมส่ง เสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่ มีนายชาวิสิทธิ์  ขิงหอม นายก อบต.น้ำไผ่ พร้อมผู้ใหญ่บ้าน 8 หมู่บ้าน พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ให้การต้อนรับ จากนั้น สส.ศรัณย์วุฒิ และ น.ส.รสรินทร์ได้นำถุงยังชีพมอบให้กับราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 100 ถุง และเดินทางต่อไปยังบ้านวังตะเคียน หมู่ 8 ต.ผักขวง อ.ทองแสนขัน นำถุงยังชีพ จำนวนหนึ่งไปมอบให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่



















นาคา คะเลิศรัมย์/รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มณฑลทหารบกที่ 37 และ สมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา มณฑลทหารบกที่ 37 ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาส่งเสริมการฝึกอบรมวิชาชีพ ระหว่าง มณฑลทหารบกที่ 37 กับ สถาบันการศึกษา 6 สถาบัน

มณฑลทหารบกที่ 37   และ สมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา มณฑลทหารบกที่ 37  ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาส่งเ...