เลย - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 จัดวงดนตรี PRAN 21 BAND เล่นดนตรีเติมความสุข “Happy Time” สร้างรอยยิ้มบนเวทีกลาง งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน 2565 อ.ด่านซ้าย จ.เลย ให้พี่น้องประชาชนซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ผู้บัญชาการทหารบกกองทัพบก เดินหน้าสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้กับสังคมไทยทั่วประเทศ
วันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามทำข่าวได้พบเห็นบรรยากาศของ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี โดย พันเอก อุทัย นิลเนตร ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 21/ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 ร่วมกับคุณสิริกัญญา นิลเนตร ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา กรมทหารพรานที่ 21 ร่วมงานประเพณีเทศกาลผีตาโขน 2565 พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว ร่วมงานเปิดเป็นจำนวนมาก และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21ได้จัดวงดนตรี จากกรมทหารพรานที่ 21 ภายใต้ชื่อ PRAN 21 BAND เล่นดนตรีเต็มวง บนเวทีกลาง เทศกาลผีตาโขน 2565เทศกาลผีตาโขน นับเป็นอีกหนึ่งงานประเพณียิ่งใหญ่ของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งในปี 2565 จัดขึ้นในวันที่ 1-3 กรกฎาคม (และชมขบวนแห่ผีตาโขนวันที่ 2 ก.ค.2565) ปีนี้ก็จัดยิ่งใหญ่ไม่แพ้ครั้งอื่น ๆ มากมายด้วยกิจกรรมต่าง ๆ รวบถึงขบวนแห่ที่สร้างสีสันความสนุกให้กับผู้มาร่วมงาน รวมถึงนักท่องเที่ยวเองก็ตื่นตาตื่นใจกับลวดลายของผีตาโขนที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการเล่าประวัติความเป็นมาของประเพณีผีตาโขนได้อย่างงดงาม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย กองทัพบกเดินหน้าสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้กับสังคม โดย พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ผู้บัญชาการทหารบกมีดำริให้จัดการแสดงดนตรีและกิจกรรมสันทนาการในลักษณะ “Happy Time” ในห้วง มิ.ย.- ก.ย. 2565 แสดงดนตรีบำรุงขวัญสร้างแรงบันดาลใจในแง่มุมต่างๆ รวมถึงเรื่องราวการดำเนินงานของกองทัพบกสร้างบรรยากาศแห่งการสร้างความสุข สร้างความผ่อนคลาย เพิ่มขวัญกำลังใจและความรักสามัคคีช่วยสร้างรอยยิ้มให้พี่น้องประชาชนที่มาร่วมงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน 2565 อ.ด่านซ้าย จ.เลย
ประวัติความเป็นมาของประเพณีนี้เป็นมาอย่างไร เรามีข้อมูลมาฝาก
ประวัติประเพณีผีตาโขน
ประเพณีผีตาโขน ถือเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่ หรือที่เรียกว่า “งานบุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” ตรงกับเดือน 7 จัดขึ้น ณ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย กล่าวกันว่า…การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน
ชนิดของผีตาโขน
หากว่าใครเคยเข้าร่วมงานประเพณีผีตาโขน แน่นอนว่าเราจะได้เห็นกับผีตาโขนหลากชนิดแตกต่างกัน โดยหลัก ๆ แล้ว สามารถแยกเป็น 2 ชนิด คือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
- ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณสองเท่า ประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัว คือผีตาโขนชาย 1 ตัวและหญิง 1 ตัว ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี
- ผีตาโขนเล็ก เป็นการละเล่นของเด็ก ทั้งเด็กวันรุ่น ผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงและชาย ที่สามารถเข้าร่วมได้ แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน
การแต่งกายของผีตาโขน
อีกหนึ่งเอกลักษณ์โดดเด่นของประเพณีผีตาโขน นั่นคือ การแต่งกายของผีตาโขน ที่มาพร้อมกับลวดลายสีสันฉูดฉาด โดยเย็บเศษผ้าเป็นเสื้อตัวกางเกงตัวหรือเย็บเป็นชุดติดกันตลอดตัว ข้อสำคัญคือต้องคลุมร่างกายให้มิดชิด มีจุดเด่นตรงที่หน้ากากผีตาโขนซึ่งทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว ส่วนเครื่องแต่งตัวประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของผีตาโขนคือหมากกะแหล่ง แขวนติดบั้นเอว และดาบไม้ แกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแถมทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ใช้เป็นอาวุธประจำกายผีตาโขนที่เอาไว้ควงหยอกล้อสาว ๆ ที่มาร่วมงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน 2565 อ.ด่านซ้าย จ.เลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น