วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2565

“ศรัณย์วุฒิ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ” พาชาวบ้านตำบลท่าแฝกและตำบลนางพญา ผู้เสียสละที่ดินสร้างเขื่อนสิริกิติ์ บุกกระทรวงทรัพย์ฯ และกรมที่ดิน ทวงสิทธิ์ที่ดินทำกินอยู่อาศัย ก่อนประกาศเป็นเขตป่าฯ รัฐต้องออกโฉนดที่ให้ชาวบ้าน ส่วน คทช.ตกหล่น ต้องสำรวจเพิ่มเติมช่วยคนในพื้นที่ บ้านห้วยต้าได้แนวกันไฟเป็นทางบกสัญจรเข้าสู่ตัวอำเภอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ สส.อุตรดิตถ์ เขต2 พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านตำบลท่าแฝก อ.น้ำปาด และตัวแทนชาวบ้านจากตำบลนางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เข้าพบ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล ใน 2 อำเภอ ที่ชาวบ้านยอมเสียสละที่ดินอยู่อาศัยและที่ดินทำกินอันอุดมสมบูรณ์ของตนเองในพื้นที่อำเภอท่าปลา เพื่อการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อปี พ.ศ. 2513 สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนไทยทั้งประเทศได้มีไฟฟ้าใช้กัน ยอมอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ตามที่รัฐบาลจัดสรรให้ใหม่ ใกล้กับแปลงที่ดินของชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนนานหลายปีแล้ว

ต่อมา รัฐบาลได้ออกประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าจริม” อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทับซ้อนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล ใน 2 อำเภอ ส่งผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมทั้งไม่สามารถขอออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินได้ ทั้งที่ชาวบ้านบางรายได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนการบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และก่อนมีการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่า ส่งผลทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะไม่มีทีดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐไล่จับดำเนินคดี ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าจริม” เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น 

วันนี้ ตัวแทนชาวบ้านรวมตัวกันเดินทางมาพร้อมกับนายศรัณย์วุฒิ  หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ สส.อุตรดิตถ์ เขต2 เพื่อรับฟังคำชี้แจงถึงความคืบหน้าในเรื่องของเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านต้องการขอเป็นโฉนดที่ดิน แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.ในเบื้องต้นชาวบ้านขอรับการจัดสรรที่ดินตามที่รัฐบาลจัดให้ โดยขอให้กรมที่ดินดำเนินการออกสมุดหรือหนังสือประจำตัวให้กับชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือก เฉพาะพื้นที่ตำบลท่าแฝก อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจริม เนื้อที่จำนวน 12,815 ไร่ ต้องการให้กรมที่ดินออกหนังสือหรือสมุดประจำตัว แก่ชาวบ้านที่ได้รับสิทธิ์การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล หรือ คทช.รวมถึงพื้นที่ตำบลขุนฝาง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ตำบลนางพญา ตำบลน้ำหมัน และ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติลำน้ำน่านฝั่งขวา อีกจำนวน 8,688 ไร่ ซึ่งยังไม่ได้รับมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกแต่อย่างใด เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง สามารถสร้างอาชีพและเกิดรายได้กับทุกครัวเรือน  ทั้งนี้ ขอในเรื่องที่อยู่อาศัยด้วย เพราะรัฐบาลให้แต่ที่ดินทำกิน แต่ไม่ได้ให้ที่อยู่อาศัย จึงขอให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจ คทช.เพิ่มเติม พร้อมให้มีการสำรวจรายชื่อชาวบ้านที่ตกหล่นด้วยเช่นกัน  นายนิสิต อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ทางกรมที่ดินรับทราบปัญหาดังกล่าวจากการประสานงานของ นายศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ สส.อุตรดิตถ์ ในฐานะ สส.พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่มานานเป็นเดือนแล้ว ในวันนี้ได้พาประชาชนมาพบเพื่อต้องการให้แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน จึงรับเรื่องเอาไว้ โครงการ คทช.เป็นนโยบายของรัฐบาลจัดให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านที่ดิน ถ้าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอุทยาน หรือป่าไม้ถาวรกรมพัฒนาที่ดินก็ต้องกันออกมา รวมถึงที่ดินสาธารณก็ต้องกันออกมา เพื่อนำเอาที่ดินเหล่านี้มาแปลงให้กับประชาชนตามกฎหมายที่มีอยู่ ให้ประชาชนครอบครองและใช้ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ครั้งละ 5 ปี ในรูปของสหกรณ์เป็นที่ดินแปลงรวม ประชาชนจะได้มีความมั่นใจว่าการจัดที่ดินดังกล่าว จะได้อยู่และอาศัยโดยนำเอาคนดั่งเดิมที่เคยอยู่มาก่อน ได้มีสิทธิ์ในที่ดินด้วยการมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดูแล ในส่วนของจังหวัดอุตรดิตถ์ นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ จะเป็นผู้ดูแล จัดคนลงให้เป็นประโยชน์ หากประชาชนมีเอกสารที่จะต่อสู้ ครั้งดำรงอยู่ในสมัยเก่าก่อน เพื่อการพิสูจน์สิทธิ์ขอออกโฉนดทางกรมที่ดินก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสสามารถดำเนินการได้ โดยจะดำเนินการสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้านในพื้นที่  จากนั้น นายศรัณย์วุฒิ พร้อมตัวแทนชาวบ้านตำบลท่าแฝกและตำบลนางพญา เดินทางไปยังกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าพบ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีชาวบ้านตำบลท่าแฝก อำเภอน้ำปาดและ ชาวบ้านตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยถูกป่าสงวนแห่งชาติประกาศทับที่ดินของชาวบ้าน และการสำรวจที่ดินเพื่อออก คทช.หลายรายตกหล่นจากการสำรวจ รวมถึงการเข้าไปในเขตพื้นที่ป่าเพื่อหาของป่ามาดำรงชีวิตประจำวันแต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม สิ่งที่สำคัญเรื่องของการเรียกร้องสิทธิ์ที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้านก่อนถูกป่าประกาศทับที่ดินในภายหลัง อยากให้ทางกระทรวงดำเนินการให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ได้มีโฉนดเป็นของตัวเอง

นายจตุพร ปลัดกระปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรื่องที่ดินทำกินและอยู่อาศัยที่ชาวบ้านอยู่ก่อนมีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ สามารถตรวจสอบสิทธิ์คืนให้กับชาวบ้านได้โดยการสำรวจทางภาพถ่ายดาวเทียมและทางกายภาพวิทยาศาสตร์ ดูหลักฐานการเข้าทำกินก่อนประกาศเขตป่าฯ รวมถึงเอกสาร สค.1 ทั้งนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคณะกรรมการในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ให้กับชาวบ้าน แต่ทางรัฐบาลก็ได้ดำเนินการออกหนังสือ คทช.ให้กับชาวบ้าน เพื่อรับรองการเข้าทำกินและอยู่อาศัยในเบื้องต้นก่อน เพื่อมีสิทธิ์ในการอยู่อย่างไร้ปัญหา แต่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ ซึ่ง นายศรัณย์วุฒิ  หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ สส.อุตรดิตถ์ ได้เข้ามาเร่งรัดเพื่อขอให้ช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในเรื่องนี้มาตลอดเกือบ 2 ปี โดยในวันที่ 4 เมษายนนี้ ตนพร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะลงพื้นที่ไปดูแลปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่โดยตรง 

“ ทั้งนี้ นายจตุพร ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้พูดถึงเรื่องการทำแนวกันไฟให้กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนางพญา ได้กำชับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่อุทยานฯที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ช่วยดูแลรักษาป่าให้คงอยู่ตลอดไป “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ เน้นคนอยู่ร่วมกับป่า”  สำหรับรายชื่อชาวบ้านที่ตกหล่นจากการสำรวจ คทช.จะเร่งดำเนินการให้ทันที ” 

นายศรัณย์วุฒิ  กล่าวว่า ชาวบ้านตำบลนางพญาและตำบลท่าแฝก เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน ที่ผ่านมาบรรพบุรุษได้อาศัยอยู่กินกันมานานหลายปีก่อนที่มีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนและเป็นการประกาศทับที่ดินอยู่อาศัย ที่ดินทำกินของชาวบ้าน ไม่มีการพิสูจน์สิทธิ์แต่เจ้าหน้าที่ไปไล่จับชาวบ้าน อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเข้าไปอยู่ทำกินจริงแต่เป็นเรื่องของคนยากจน สิทธิ์อันชอบธรรมยังไม่มีการพิสูจน์ทางราชการก็ไปจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้าน ตนจึงหาข้อสรุปว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ช่วงที่มีการเลือกตั้งมีประชาธิปไตย มีสส.ตนก็ไปต่อสู้ให้ มีการช่วยเหลือและผ่อนปรนบ้าง แต่ในช่วงไหนที่เผด็จการยึดอำนาจชาวบ้านจะถูกดำเนินคดีอย่างเดียวเลย เป็นสิ่งที่ตนเองรับไม่ได้ 

วันนี้ จึงตัดสินใจขอสิทธิ์ทำกินก่อนได้ไหม โดยออกเป็น คทช.จะได้ไม่ต้องระแวงถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจับกุมดำเนินคดี ส่วนหนึ่งประชาชนยืนยันว่าอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษและอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตป่าฯ มีหลักฐานจากต้นมะขามที่ปลูกเอาไว้ ปัจจุบันมีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งสามารถพิสูจน์สิทธิ์ได้ว่าชาวบ้านเข้าทำกินมาก่อน รวมถึงกระดูกบรรพบุรุษก็ฝังอยู่บนที่ดินของตนเองสามารถขุดพิสูจน์ได้  นายศรัณย์วุฒิ กล่าว

นายศรัณย์วุฒิ  กล่าวว่า การรับสิทธิ์ คทช.ให้ชาวบ้านรับไปก่อน แต่ชาวบ้านยังต้องสงวนสิทธิ์ที่พึงจะได้ หากมีการพิสูจน์ได้ว่ามีการเข้ามาอยู่ก่อนป่า รัฐต้องให้เอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินกับชาวบ้านมันจึงจะยุติธรรม การวัด คทช.บางที่ก็วัดตกหล่น วันนี้โชคดีที่เจอปลัดกระทรวงฯ รับปากพร้อมเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านในส่วนที่เป็นปัญหา ส่วนพื้นที่ตำบลนางพญาชาวบ้านมีปัญหาเรื่องการสัญจรเพราะต้องผ่านพื้นที่ป่าเพราะถนนไม่มีต้องใช้วิธีล่องเรือสัญจรเป็นชั่วโมง จนเกิดเหตุเรือล่มกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์เป็นประจำทุกปีทำให้มีผู้เสียชีวิต วันนี้มาร้องเรียนขอให้ใช้มาตรา 19 ขอทำแนวกันไฟเพื่อให้ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาได้ระหว่างหมู่บ้านห้วยต้ากับอำเภอท่าปลา ขณะเดียวกันขอชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าให้ด้วย ตนจะติดตามเรื่องการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนางพญาและตำบลท่าแฝก นายจตุพร ปลัดกระปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบอำนาจให้นายมรกต อินทรภู่ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นดูแลรับผิดชอบโดยตรงในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ หากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนก็ขอให้รับเรื่องความเดือดร้อนไปแก้ไขปัญหา














นาคา คะเลิศรัมย์/รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น