จุรินทร์ นำ "ประกันรายได้พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย" เดินหน้าปี 3 สู่ปีที่ 4 จับมือเกษตรกรดูแลผลผลิต พร้อมชู"ส่งออก"ขยายตัว ให้เป็นโอกาสประเทศ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.15 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานและปาฐกภาพิเศษ “ประกันรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ที่ชั้น G อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นโยบายสำคัญประกันรายได้เกษตรกร เกิดขึ้นจากประชาธิปัตย์และเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเงื่อนไขหนึ่งก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล วันนี้นโยบายประกันรายได้เกษตรกรจึงเกิดขึ้นเป็นนโยบายของรัฐบาลเดินหน้ามาเข้าปีที่ 3 และกำลังจะขึ้นปีที่ 4 ประกันรายได้เกษตรกรพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย นอกจากจะเป็นการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ตัว คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วยังถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ประกันรายได้เป็นตัวช่วยในยามที่ราคาพืชเกษตรตกต่ำ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ประกันที่เกวียนละ 10,000 บาท หากราคาต่ำกว่า 10,000 บาทจะมีรายได้จากราคาตลาด และส่วนต่างจากรายได้ที่ประกันโอนเข้าบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนและเปิดบัญชีไว้โดยตรง ปาล์มน้ำมันก็เช่นเดียวกัน เป็นตัวช่วยยามที่พืชเกษตรราคาตก ซึ่งทุกวันนี้พืชเกษตรราคาดีเกือบทุกตัว
"โดยยางพาราที่เคยวิจารณ์ว่า 3 โล 100 วันนี้ยางแผ่นดิบราคาเกิน 60 บาท/กก. แล้ว ไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง น้ำยางข้นประกันรายได้ กก.ละ 57 บาท วันนี้ราคา 67 บาท/กก.แล้ว ยางก้อนถ้วยหรือขี้ยาง สมัยก่อนกิโลกรัมละ 12-15 บาท วันนี้กิโลกรัมละ 27 บาทแล้ว ล่าสุดที่จังหวัดเลย กิโลกรัมละ 29 บาท มันสำปะหลัง เมื่อก่อน 1.70-1.80 บาท/กก. วันนี้ราคา 2.50-2.70 บาท/กก. ข้าวโพดประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท วันนี้ราคา 10.00- 10.50 บาท/กก. ปาล์มน้ำมันก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามา อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 2 บาท วันนี้ปาล์มสูงสุดถึง 12 บาท/กก. และวันนี้ 9-10 บาท/กก.โดยประมาณ เราประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท สูงกว่ารายได้ที่ประกันถึง 4 เท่า พืชเกษตรราคาดีเกือบทุกตัวและผลไม้ราคาดี ตนเรียนในสภาว่า ทุเรียนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 120 บาท/กก. ในปี 2564 ซึ่งมังคุด เกรดส่งออกบางช่วงถึงกิโลกรัมละ 220 บาท และดีเกือบทุกตัว ยกเว้นบางช่วงที่ทะลักออกมาและล้งไปรับไม่ทัน เกิดโควิด เช่น มังคุดที่ช่วงติดโควิด และล็อกดาวน์ราคาจึงลดลงตอนหลังไปแก้ปัญหาทันท่วงทีก็ช่วยให้ดีขึ้นเฉลี่ยถือว่าราคาดี" นายจุรินทร์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ช่วง 3 ปี ที่ประกันรายได้ส่งเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 450,000-500,000 ล้านบาท ที่สำคัญไม่ส่งผลเฉพาะการฟื้นเศรษฐกิจฐานรากช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ แต่ยังช่วยการแก้ปัญหาทางการเมือง ตั้งแต่มีนโยบายประกันรายได้ม็อบเกษตรกรเราเกือบลืมไปมีน้อยมาก เพราะมีตัวช่วยยามที่พืชเกษตรตกต่ำมีส่วนต่างพยุงชีวิต พยุงรายได้ให้เกษตรกรอยู่ได้ และประกันรายได้ไม่มีทุจริต และทุจริตไม่ได้ มีกระบวนการตรวจสอบมีกระบวนการรับรองจากเจ้าหน้าที่ และธ.ก.ส.เป็นผู้ตรวจบัญชีและโอนเงินตรงเข้าบัญชีเกษตรกร การทุจริตเกิดยากมาก
สำหรับอนาคตของเกษตรกร และภาพรวมเศรษฐกิจไทย ตนคิดว่าเกษตรยังเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ ต้องส่งเสริมสนับสนุนต่อไป ไม่ควรไปด้อยค่าการเกษตร เกษตรต้องไม่ทิ้ง หลายประเทศที่ไม่มีเกษตร เมื่อถึงเวลาโควิดเกิดวิกฤติโลก ข้าวก็ไม่มีจะกิน คนไทยอย่างน้อยมีข้าวกิน มีพืชเกษตรบริโภค คือฐานความเป็นเรา ที่ต้องรักษาไว้ แต่อนาคตทางการเกษตรที่ต้องทำคือ พัฒนาปรับปรุง เดินหน้าไปสู่เกษตรมูลค่าสูง สูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปของเราพัฒนาไปไกล เช่น ข้าวเป็นเครื่องสำอางและมีราคาสูง เป้าหมายที่ควรเดินหน้าขับเคลื่อนคือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ Bio Economy จะต้องถูกขับเคลื่อนและเป็นอนาคตเศรษฐกิจตัวหนึ่งไทยต่อไปอย่างเข้มข้นและให้สัมฤทธิ์ผลได้จริง
สำหรับการส่งออก พิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยมีศักยภาพภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ ที่ตนริเริ่มขึ้น เราไม่ปล่อยให้เอกชนเดียวดาย จับมือร่วมกัน ตัวเลขปี 64 ส่งออกไทยสามารถทำเงินเข้าประเทศถึง 8.5 ล้านล้านบาท +17.1% จากเป้าที่ตั้งไว้ 4% กว่า 4 เท่า นี่คือความสำเร็จร่วมกันในการทำงาน การท่องเที่ยวต้องถือว่าเป็นเป้าหมายหลักต่อไป การเดินทางข้ามประเทศข้ามโลกได้เมื่อไหร่ การท่องเที่ยวไทยต้องรีบฟื้นให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไปคู่กับการส่งออกและภาคการเกษตร สุดท้าย Soft Power เป็นสิ่งที่ต้องแทรกไปในทุกอณูของภาคการผลิตสินค้าและบริการไทย ในการขายไปต่างประเทศโดยเฉพาะภาคบริการที่เราเริ่มดิจิทัลคอนเทนท์สนับสนุนทำอนิเมชั่น ภาพยนตร์ฝีมือคนไทยไม่แพ้ใครในโลก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมและตนมอบเป็นนโยบาย ทั้งการท่องเที่ยวและภาคบริการต้องแทรก Soft Power เพื่อขายความเป็นไทยที่มีเสน่ห์ ด้วยความเป็นอัตลักษณ์ โดยเฉพาะความเป็นคนไทยที่ไม่มีใครก๊อปปี้ได้เป็นจุดขายสำคัญ ทั้งหมดนี้จะนำรายได้เข้าประเทศมหาศาลและจะช่วยให้เศรษฐกิจเราฟื้นได้เร็วและเศรษฐกิจฐานรากยังคงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเกษตร Bio Economy ต่อไปในอนาคต
รายงานระบุว่า โดยในงาน “ประกันรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ยังมี นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ร่วมเวทีเสวนา และมี นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมงานด้วย และการสัมมนามีการถ่ายทอดสดผ่านเครือมติชนทั้งประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น