วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565

รมว.เกษตรฯ เปิดศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) นำร่องแห่งแรกของ จ.ประจวบฯ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม


รมว.เกษตรฯ เปิดศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) นำร่องแห่งแรกของ จ.ประจวบฯ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

28 ม.ค.65 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการ ตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) บริเวณโครงการเลี้ยงโคนมในระบบชีวภาพ (วัวหลุม) อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ  และ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายสังวาลย์ โพธิ์มี ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้การต้อนรับ โดยโครงการศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์แห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและแปรรูปของสถาบันเกษตรกร (ตาม พ.ร.ก. เงินกู้โควิด พ.ศ.2563)  จำนวน 7,609,500 บาท และเงินที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ สมทบ  845,000 บาท  รวมงบประมาณทั้งสิ้น 8,454,500 บาท นำมาใช้ดำเนินการก่อสร้างและจัดซื้อครุภัณฑ์พร้อมติดตั้งอุปกรณ์กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ TMR หรืออาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยมีการก่อสร้างโรงเรือนเก็บและผสมอาหาร TMR ก่อสร้างบ่อหมักอาหารหยาบ ก่อสร้างลานคอนกรีต จัดซื้อรถบรรทุก 6 ล้อ แบบดั๊ม จัดซื้อรถตัดล้อยาง ขนาด 100 แรงม้า จัดซื้อเครื่องผสมอาหาร TMR จัดซื้อเครื่องบรรจุอาหารสุญญากาศแบบ 2 หัว มีกำลังการผลิตอาหาร TMR วันละ 30 ตัน จำหน่ายให้สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่สนใจในราคา กก.ละ 4 บาท

นาย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์ในลักษณะเช่นนี้กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีการเลี้ยงโคนมเพื่อช่วยเกษตรกรในการลดตันทุนการผลิต เพราะการเลี้ยงโคนมมีต้นทุนเรื่องของอาหารสัตว์ถึงร้อยละ 60 ในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรรายย่อยด้วย เพราะอาหาร TMR ที่ผลิตจากศูนย์แห่งนี้เป็นสูตรที่ผ่านการพัฒนาให้เหมาะสมกับโคนม  อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรพัฒนาการเลี้ยงควบคู่กับการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนมโค เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหากศูนย์ผลิตอาหารสัตว์แห่งนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการนำร่องให้กับสหกรณ์อื่นๆ ต่อไป ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมซึ่งถือเป็นอาชีพพระราชทานของคนไทย

ทั้งนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคนมมากเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศ มีเกษตรกรผู้เลี้ยโคนมกระจายอยู่ทุกอำเภอ รวม 1,059 ราย จำนวนโคนม 36,915 ตัว ผลิตน้ำนมดิบ 64,112 ตันต่อปี

โดยผลิตน้ำนมดิบผ่านระบบสหกรณ์โคนม  มีสหกรณ์โคนม จำนวน 6 แห่ง วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 1 แห่ง และกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 1 แห่ง







พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 339 6444

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กฟผ.แม่เมาะ Kick Off ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน เดินหน้ามาตรการเชิงรุกครอบคลุมพื้นที่ 90,000 ไร่

กฟผ.แม่เมาะ Kick Off ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน เดินหน้ามาตรการเชิงรุกครอบคลุมพื้นที่ 90,000 ไร่ วาง 3 แผนการดำเนินงานป้องกันไฟป่าและหมอกควัน พ...