บันทึกไว้ Primary mission HEMS เคสแรกของเชียงใหม่ ณ หมู่บ้านวาเมทะ อ.อมก๋อย 3 ตุลาคม 2564 ชุดปฏิบัติการบินกองทัพบก กองกำลังผาเมือง สนับสนุนอากาศยาน รับหญิงตั้งครรภ์ ครบกำหนดคลอด 2 วัน เดินทางออกจากหมู่บ้านไม่ได้ ทีมแพทย์ฉุกเฉิน sky doctor ลำเลียงจากยอดดอย ส่งรักษา รพ.นครพิงค์ ปลอดภัย
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564 ชุดปฏิบัติการบินกองทัพบก กองกำลังผาเมือง ( ชปบ.ทบ.กกล.ผาเมือง ) สนับสนุนสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน ทีม sky doctor ให้การช่วยเหลือ ผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ ครบกำหนด คลอดแต่ไม่สามารถคลอดได้ เนื่องจากทารกอยู่ในท่าผิดปกติและมีความดันสูง จึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศยาน จาก บ้านวาเมทะ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยปัจจุบันทีมแพทย์ได้ทำการผ่าคลอด ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไม่นาน เด็กและแม่จึงไม่เป็นอันตราย
จากกรณี หญิงตั้งครรภ์ครบกำหนด เจ็บท้องคลอด 2 วันแล้ว ยังไม่สามารถคลอดได้ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่บ้านมอโพทะ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเวลานี้การเดินทางหมู่บ้านไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยรถยนตร์ และที่หมู่บ้านนี้ก็ไม่มีลานจอด เฮลิคอปเตอร์ ด้วย
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์รายดังกล่าว จึงจำเป็นให้ชาวบ้านช่วยกันแบกหามคนไข้ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อมาที่บ้านวาเมทะ ซึ่งเป็นสถานที่บริเวณที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลนครพิงค์ เคยเข้ามาสำรวจไว้และระบุพิกัดพื้นที่สามารถนำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้
ที่หมู่บ้านวาเมทะ ทีมแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ เคยเข้ามาจัดดำเนินการซ้อมการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินคุ้นเคยกับพื้นที่และชาวบ้านก็เริ่มรู้จักการลำเลียงทางอากาศอยู่บ้าง
หลังจากลำเลียงด้วยการแบบผู้ป่วยเดินเท้า ได้นำผู้ป่วยมาพักฟื้นร่างกายภายในอาคารของศูนย์เรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา"แม่ฟ้าหลวง"บ้านวาเมทะ" ซึ่งเป็นที่ที่ปลอดภัย ไม่โดนฝนโดนแดด และแน่นอน สถานที่นี่คือ ที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลนครพิงค์ มาซ้อมและวางแผนไว้เป็นจุดพักผู้ป่วยก่อนหน้านี้
ในพื้นที่นี้ทางสาธารณสุขอำเภออมก๋อย ได้วางไว้เป็นพื้นที่เป้าหมายเนื่องจากการเดินทางยากลำบากห่างไกล เริ่มมีการวางแผนการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมกับชาวบ้าน สำรวจพื้นที่ จับพิกัด พื้นที่ที่สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ และทำการซ้อมแผน ดำเนินการมาหลายเดือนก่อนหน้านี้แล้ว
นี่ไม่ใช้เรื่องฟลุ๊ค แต่ด้วยการเตรียมความพร้อมของทีมงานและทีมแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลนครพิงค์ ตลอดจน ชุดปฏิบัติการบินกองทัพบก กองกำลังผาเมือง ซึ่งหากไม่เคยมีการซักซ้อมแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย , การกำหนดพื้นที่จุดพักคอยผู้ป่วย หรือพื้นที่อพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เสมือนสถานการณ์จริงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย โดย ทีมแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลนครพิงค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำความสำเร็จจากการลองผิดลองถูก ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยภาพพื้นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน นำมาปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณในความเสียสละความพยายามและความมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกลของ สำนักงานสาสุขจังหวัดเชียงใหม่ ที่เอาใจใส่ผู้ป่วยและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยอดดอย ห่างไกลทุรกันดารอย่างจริงจัง ขอบคุณ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และกองทุนพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้เป็นทั้งผู้เริ่มต้นและทำให้การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศในประเทศไทยเกิดขึ้นจริงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณกองทัพภาคที่ 3 กองกำลังผาเมือง ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ที่สนับสนุนอากาศยาน และนำพาผู้ป่วยถึงจุดหมายอย่างแม่นยำ รวมทั้งนำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดในจุดจอดที่เป็นไปด้วยความยากลำบากขวากหนามได้อย่างเหลือเชื่อและสวยงาม จนพาทีมแพทย์ฉุกเฉิน และผู้ป่วยส่งถึงปลายทางอย่างปลอดภัย
ขอบคุณสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สาขาอำเภออมก๋อย, โรงพยาบาลอมก๋อย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่หลองหลวง และอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้แจ้งเหตุ เป็นตัวเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่เหลือเกินในการดูแลประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ขอบคุณภาพข่าวจาก กองกำลังผาเมือง และ Prasan Piamanan
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น