วันนี้ (1ต.ค.64) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด อำเภอพระทองคำ อำเภอโนนไทย และอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อย่างต่อเนื่อง วัดปริมาณฝนสะสม ตั้งแต่วันที่ 23-26 ก.ย.64 ได้ 176 มม. ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่า ตามแหล่งน้ำธรรมชาติไหลหลากลงสู่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) เป็นจำนวนมาก และไหลข้ามทำนบดินไซด์งานก่อสร้างชำรุด บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารระบายน้ำ Service spillway ของอ่างฯ ลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ที่กำลังดำเนินงานก่อสร้างและสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 70 จนทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่ท้ายอ่างฯ ได้แก่ อำเภอโนนไทย และอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
ล่าสุด กรมชลประทาน ได้ใช้หินใหญ่ถมบริเวณที่ชำรุด เพื่อปิดกั้นน้ำลดความแรงของน้ำ หลังจากนั้นจะใช้ดินถมปิดช่องน้ำไหลผ่านเพื่อควบคุมน้ำให้กลับมาไหลผ่านทางอาคารระบายน้ำ คาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำได้ในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 1-2 ตุลาคม 2564 นี้ จะยังคงมีฝนตกในพื้นที่ตอนบน จึงยังจำเป็นจะต้องระบายน้ำออกทางอาคารระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะมาอีก หากปริมาณฝนลดลงจะใช้ stop log ปิดทางระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าต่อไป
ปัจจุบัน (1ต.ค.64) อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4.91 ล้าน ลบ.ม. หรือ 17 % ของความจุอ่างฯ ในการนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก เตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม มอบจังหวัดและกรมชลประทาน พิจารณาความเหมาะสมรับน้ำหลาก รวมถึงวางแผนเก็บน้ำสำรองทุกแห่ง ทั้งผิวดินและใต้ดินไว้รองรับน้ำในช่วงฤดูแล้งหน้า ทั้งนี้ ขอให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทับรั้ง พร้อมระบบส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำซับกระจาย พร้อมระบบส่งน้ำ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมให้เร่งซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง )ให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น