วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ลงพื้นที่ตรวจสถานที่รักษาผู้ป่วย COVID-19 ยันมีความพร้อม ขอประชาชนดูแลตนเองให้ดี สู้วิกฤตินี้ไปด้วยกัน



รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ลงพื้นที่ตรวจสถานที่รักษาผู้ป่วย COVID-19 ยันมีความพร้อม ขอประชาชนดูแลตนเองให้ดี สู้วิกฤตินี้ไปด้วยกัน 

      พันเอก กิตติพล ไพรหิรัญ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 /รองผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 37/ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย (ฝ่ายทหาร) พร้อมด้วยนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำคณะกรรมการฯ ร่วมออกตรวจสถานที่สำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงแรมที่เป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วย หรือ Hospitel โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมทั้ง อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ( GMS) จังหวัดเชียงราย เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย  ร่วมตรวจโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ 

     ซึ่งมีการเตรียมการจัดตั้งให้เป็นโรงพยาบาลสนาม สำหรับกรณีมีผู้ป่วยล้นมาจากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้มีการเตรียมเตียงกระดาษเอาไว้แล้ว 250 เตียง มีระบบรักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิด 31 ตัว เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง อีกทั้ง มีระบบอินเตอร์เน็ตให้ผู้ป่วยได้ใช้งานในระหว่างการรักษาพยาบาลได้อีกด้วย 

     สำหรับวันนี้ จังหวัดเชียงรายมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 19 ราย รวมจำนวนผู้ป่วยสะสม 300 ราย และรักษาหาย ครบกำหนดกลับบ้านวันนี้ 59 ราย ทำให้คงเหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่อีก 183 ราย โดยผู้ป่วยมีอาการจะส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ส่วนที่ไม่มีอาการก็ให้อยู่ที่ Hospitel และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเมื่อรักษาครบ 10 วันก็ให้กลับไปดูแลตัวเองที่บ้านอีก 14 วัน หากไม่พบเชื้อก็ถือว่าหายขาด 

     นายประจญ ปรัชญสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายก็ยังเน้นให้คงคุมเข้มในทุกมาตรการ โดยจะมีการส่งกำลังตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง กระจายกันไปตามชุมชนหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อไปดูแลพี่น้องประชาชน ภายใต้สโลแกนของภาษาเหนือที่ว่า "ขาบอยู่บ้าน" หากจำนวนผู้ป่วยลดลงไปเรื่อย ๆ ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน นี้ ก็จะประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ช่วงนี้ก็จะมีการบังคับใช้คำสั่งและออกประกาศต่าง ๆ เพิ่มเติมไปตามสถานการณ์แต่จะใช้ให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนมากจนเกินไป

     กระนั้น ในส่วนของหมู่บ้านหลายแห่งใน จังหวัดเชียงราย ที่มีการปิดหมู่บ้านแล้วนั้นทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย ได้มอบอำนาจให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค(ศปค.)อำเภอ มีอำนาจดำเนินการได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การสร้างความเข้าใจและให้คำแนะนำกับชาวบ้านในเรื่องความจำเป็น การใช้ชีวิต และขอให้อดทนเพียงแค่ 14 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงปิดไปอย่างยาวนานกว่านั้น

     ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังได้กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ตามหากเกิดกรณีผู้ป่วยล้นมาจากโรงพยาบาลศูนย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็จะใช้อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ( GMS) จังหวัดเชียงรายรองรับ โดยจะเป็นผู้ป่วยชายเป็นหลัก เพราะผู้ชายมีร่างกายแข็งแรงและสามารถอยู่ที่หอประชุมกว้าง ๆ เช่นนี้ได้ ส่วนผู้หญิงก็แยกให้อยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงต่อไป ซึ่งก็จะทำให้การดูแลรักษาและชีวิตความเป็นอยู่ในระหว่างรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น 

     ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยทุกด้าน ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือ และบุคลากร หากประชาชนมีความเข้าใจ และดูแลรักษาตนเองให้ดี เราก็จะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน และจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วย


































ภาพข่าวศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 ธีรพงศ์ นาคแนม (นกพิราบศูนย์ข่าว พิจิตร) 0831671688 รายงาน  https://www.facebook.com/KaoTuaThai


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

💥ท่านไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ราษฏรอาวุโสเมืองพิจิตร, ท่านนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สั่งการมอบหมา...