องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่
ชป. : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี คณะอนุกรรมการ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา พร้อมด้วยข้าราชการในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับพร้อมร่วมบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ณ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราและระบบส่งน้ำ แล้วเสร็จในปี 2536 ความจุเก็บกัก 263 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานประมาณ 175,000 ไร่ มีน้ำท่าไหลเข้าอ่างฯ ประมาณปีละ 202 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากการเติบโตของชุมชนเมือง ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่อำเภอสันกำแพง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่สูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ
กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ด้วยการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ 2 ช่วง คือ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด และอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง เป็นการนำน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนจากลำน้ำแม่แตงประมาณปีละ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปยังเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และผันน้ำส่วนเกินจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ประมาณปีละ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำที่ผันลงสู่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราทั้งสิ้นประมาณปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการนำน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนจากลุ่มน้ำแม่แตงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากนั้นในช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะ ได้ลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ช่วงแม่งัด-แม่กวง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยมีผลงานสะสมทั้งโครงการร้อยละ 59.49 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ของชาวเชียงใหม่และลำพูน ช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนได้ส่วนหนึ่งด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น