วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ชป.ระบายน้ำเพิ่ม 5 เขื่อนหลักอีสานกลาง เติมน้ำลงแม่น้ำชี ช่วยอุปโภคบริโภคแม่น้ำชีตอนกลาง-ตอนล่าง

ชป.ระบายน้ำเพิ่ม 5 เขื่อนหลักอีสานกลาง เติมน้ำลงแม่น้ำชี ช่วยอุปโภคบริโภคแม่น้ำชีตอนกลาง-ตอนล่าง

กรมชลประทาน ปรับแผนเพิ่มการระบายน้ำจาก 5 เขื่อนหลักในพื้นที่อีสานกลาง เติมน้ำในแม่น้ำชีสนับสนุนน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่แม่น้ำชีตอนกลาง-ตอนล่าง หลังระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ในการสนับสนุนน้ำเพื่อช่วยทุกภาคส่วนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยให้คำนึงถึงน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนเป็นหลัก 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Gistda พบว่าเกษตรกรที่อยู่บริเวณสองฝั่งลำปาว ลำน้ำชีตอนล่าง และลำน้ำยัง มีการทำนาปรังโดยใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พื้นที่กว่า 260,000 ไร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะสำนักงานชลประทานที่ 6 (SWOC6) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อลดผลกระทบจากระดับน้ำที่ลดลง ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อการสูบน้ำดิบสำหรับผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขายโสธร และประปาโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำชี ด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากแผนเดิมไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อรักษาระดับน้ำและปริมาณน้ำในแม่น้ำชีให้เพียงพอต่อความต้องการ

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสนับสนุนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จากวันละ 4 เป็นวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ก่อนจะใช้ฝายหนองหวาย ระบายน้ำลงด้านท้ายฝายและควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า E.22 B ไม่น้อยกว่าวันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. จากนั้น จะใช้เขื่อนทดน้ำในแม่น้ำชี ควบคุมการระบายน้ำลงสู่ด้านท้าย ดังนี้ เขื่อนมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ระบายน้ำลงด้านท้ายและควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า E.91 ไม่น้อยกว่า วันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวังยาง จังหวัดมหาสารคาม ระบายน้ำลงท้ายน้ำและควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า E.66A ไม่น้อยกว่าวันละ 0.3 ล้าน ลบ.ม.  และเขื่อนร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ระบายน้ำลงด้านท้ายวันละไม่น้อยกว่า 1.0 ล้าน ลบ.ม.  ด้านเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ระบายน้ำเพิ่มอีกกว่าวันละ 1.0 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดว่าจะต้องใช้ปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนลำปาวประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์อีกประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. จึงจะเพียงพอต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่ลำน้ำชีตอนกลางไปจนถึงตอนล่างในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ตามลำดับ

กรมชลประทานจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการใช้น้ำในพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำชี ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ประสานท้องถิ่นในการลดชั่วโมงการสูบน้ำและจัดรอบเวรการสูบของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า(แพสูบ)ในแม่น้ำชี รวมไปถึงได้แจ้งการประปาส่วนภูมิภาคและประปาท้องถิ่นในลุ่มน้ำชีทำการต่อท่อสูบ เพื่อลดผลกระทบจากระดับน้ำที่ลดลง พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามการส่งน้ำในระบบชลประทานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า แบ่งปันกันอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้.







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น