วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุก เดินหน้าสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านน้ำพี้-ป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ หวังแก้ไขปัญหาพ้นวิกฤติภัยแล้ง !


โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุก  เดินหน้าสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านน้ำพี้-ป่าคาย อ.ทองแสนขัน  จ.อุตรดิตถ์   หวังแก้ไขปัญหาพ้นวิกฤติภัยแล้ง   ! 

อุตรดิตถ์ :  เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   นายณฐพล  ชุ่มสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุก  พร้อมด้วยนายตรีภพ  เกื้อเม่ง  หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม นายดิลกยศ  ปานะดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน  นางนรินทร นาคเหล็ก นายช่างชลประทานปฏิบัติงาน  ร่วมกับนายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม (ผวศ.ชป.3) นายทวีสิทธิ์  เลิศสินไทย ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน (ผผง.ชป.3) และ  เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานที่ 3 ลงพื้นที่ตรวจการดำเนินงานโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพื้นที่ ตำบลน้ำพี้และตำบลป่าคาย ขนาด 0.65 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จำนวน 3  เครื่องพร้อมระบบส่งน้ำ (ระยะที่2)  ความยาว 17,001.623  เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 12,000 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

นายณฐพล  ชุ่มสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุก กล่าวว่า  กรมชลประทาน ได้เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าน้ำพี้-ป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ในพื้นที่ตำบลน้ำพี้และตำบลป่าคาย อำเภอทองแสนขัน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากลำน้ำคลองตรอน ประกอบกับเป็นพื้นที่ราบสูงและอยู่นอกเขตชลประทาน มีเพียงสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและระบบส่งน้ำ 2 แห่ง ซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่ได้เพียง 3,000 ไร่ เท่านั้น

"  โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าน้ำพี้-ป่าคาย เป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างเร่งด่วน โดยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สูบน้ำจากแม่น้ำน่าน บริเวณเหนือเขื่อนทดน้ำผาจุก ในเขตตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา ในอัตราการ 3.90 ลบ.ม./วินาที พร้อมก่อสร้างระบบส่งน้ำความยาว 17 กิโลเมตร ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรและการอุปโภคบริโภคให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลน้ำพี้ และตำบลป่าคาย อำเภอทองแสนขัน และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมักจะประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี "

สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว ฯ  คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างสถานีสูบน้ำฯ 1 ปี (2563-2564) ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในฤดูแล้งประมาณ 8,500 ไร่ และฤดูฝนประมาณ 12,000 ไร่ รวมทั้งใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาให้กับหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่รวม 10 แห่งอีกด้วย   นายณฐพล  กล่าว.






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น