ทส. เปลี่ยนขยะให้เป็นป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวป่าชายเลนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี นำร่องเป็นจังหวัดแรก
ทส. : เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานในการจัดกิจกรรม "เปลี่ยนขยะให้เป็นป่า" เพือสร้างความตระหนักและสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกและจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ โดยมีนายสืบสกุล หนูไชยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (เพชรบุรี) นายศิริพงษ์ เดชโพธิ์พระ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดเพชรบุรี พร้อมกับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านในตำบลบางขุนไทร และคณะครู นักเรียนโรงเรียนบ้านวัดไทรทอง จำนวนรวมกว่า 50 คน เข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดเพชรบุรี อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เห็นชอบและถือว่าจังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดแรกที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เปิดจุดบริการให้ชาวบ้านและนักเรียนในพื้นที่นำขยะและขวดพลาสติกมาแลกเป็นกล้าพันธุ์ไม้ป่าชายเลนคือต้นโกงกางใบใหญ่ เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ป่าชายเลนบางขุนไทรเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และ สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนส่งเสริมให้รู้จักการคัดแยกขยะและจัดการขยะที่ถูกวิธีและลดปัญหาขยะชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ รักษาระบบนิเวศป่าชายเลน รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งการจัดการขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยลดปริมาณขยะที่จะไหลไปรวมกันในระบบนิเวศทะเลซึ่งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ทะเลบาดเจ็บและตาย ส่วนขยะที่รับจากชาวบ้านในครั้งนี้จะได้ส่งมอบให้กับทาง อบต.บางขุนไทร เพื่อนำไปดำเนินการรีไซเคิลต่อไป นอกจากนี้
ในการนี้ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้แจกกระเป๋าผ้าให้กับชาวบ้านและนักเรียน เพื่อเป็นการรณรงค์ใช้ถุงผ้าเพื่อรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ช่วยลดปริมาณขยะที่จะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกด้วย
สำหรับป่าชายเลนมีประโยชน์ทั้งทางด้านนิเวศวิทยา การดำรงชีวิตของมนุษย์ และยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของชายฝั่งทะเล เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาล และที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ รวมถึงมนุษย์ อีกทั้งยังช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งและใกล้เคียง โดยเฉพาะหญ้าทะเลและปะการัง ป่าชายเลนมีบทบาทในการรักษาสมดุลของธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของน้ำทะเลชายฝั่งซึ่งจะส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง และที่สำคัญป่าชายเลนเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เนื่องจากไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงจึงช่วยลดปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนอีกด้วย
ด้านนายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า โครงการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นป่าหลักการและเหตุผลขยะเกือบทุกชนิดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยเฉพาะขยะพลาสติก ตามหลักการจัดการขยะสากล ใช้หลัก 3 R ได้แก่ Reduce คือการลดปริมาณการใช้ลง หรือ ใช้เท่าที่จำเป็น Reuse คือ การนำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำ ๆ หรือการใช้อย่างคุ้มค่าและ Recycle คือ การนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ การจัดการขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยลดปริมาณขยะที่จะไหลไปรวมกันในระบบนิเวศทะเลซึ่งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศเช่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ทะเลบาดเจ็บและตาย เกิดสารปนเปื้อนในอาหารทะเลซึ่งสุดท้ายก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ประกอบกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปีมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ
ดังนั้น การจัดการขยะตามหลักสากลโดยการนำขวดพลาสติกซึ่งเป็นประเภทขยะที่พบ ได้มากมาจัดการให้เกิดประโยชน์โดยการนำมาแลกเป็นกล้าไม้เพื่อนำไปปลูกฟื้นฟูระบบนิเวศจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการจัดการการคัดแยกขยะและยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ นายจเรศักดิ์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น