วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“รมว. เฉลิมชัย เร่งขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน เตรียมโชว์ผลงานความสำเร็จของเกษตรไทยในเวทีสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยในยุคโควิด”


 “รมว. เฉลิมชัย เร่งขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน เตรียมโชว์ผลงานความสำเร็จของเกษตรไทยในเวทีสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยในยุคโควิด”

 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าววันนี้ว่า ภายใต้นโยบายของ

ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมพร้อมขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน และเตรียมโชว์ผลงานความสำเร็จของภาคเกษตรไทยในเวทีสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในยุคโควิด”

นายอลงกรณ์ พลบุตร เปิดเผยว่า เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส ประกาศเดินหน้าปฏิรูปสร้างระบบอาหารโลกที่มั่นคงและยั่งยืน เพราะระบบอาหารในระดับประเทศและระดับโลก มีจุดอ่อน มีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน การผลิตอาหารและการเกษตรที่ผ่านมา ทำให้ทรัพยากรโลกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม ประชากรโลกเพิ่มขึ้นและมีการขยายเขตเมือง มีการบุกรุกทำลายป่า การใช้สารเคมีในภาคเกษตรอย่างไม่เหมาะสม ระบบนิเวศเสียสมดุล ดินเสื่อมคุณภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานสถานการณ์ตัวเลขคนอดอยากทั่วโลกหลังเผชิญโควิด-19 อยู่ที่ 820 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก

ปี 2562 ถึง 132 ล้านคน มีประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ ประชากรโลกมากกว่า 2 พันล้านคนกำลังประสบปัญหาโภชนาการจากการบริโภค เช่น บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินจนซึ่งกระทบต่อสุขภาพ และยังส่งผลต่อรายจ่ายด้านงบประมาณสาธารณสุขของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ทุกประเทศจะต้องเร่งปฏิรูประบบอาหารและภาคเกษตรไปสู่ความยั่งยืน

โดยเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ประกาศเตรียมจัดการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit: UNFSS 2021) ระดับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจากทั่วโลก ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2564 และการประชุมระดับผู้นำประเทศและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 นี้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารจากทั่วโลก เร่งหารือและจัดทำนโยบายแผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยให้มีการรวบรวมข้อเสนอจากผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการผลิตอาหารและการเกษตรของแต่ละประเทศเพื่อนำไปเสนอในเวทีสหประชาชาติต่อไป

นายอลงกรณ์ พลบุตร เปิดเผยว่า ภายใต้การนำของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำเสนอผลงานและความสำเร็จ 1) การขับเคลื่อนนโยบาย “3S” คือ "Safety" ความปลอดภัยของอาหาร "Security" ความมั่นคง มั่งคั่ง ของภาคการเกษตรและอาหาร และ "Sustainability" ความยั่งยืนของภาคการเกษตร สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในยุคโควิด” 2) การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรระดับจังหวัด (Provincial crop calendar) เพื่อบริหารจัดการด้านความมั่นคงอาหารเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร (Agricultural Big Data) 3) ความสำเร็จของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU เพื่อรักษาและสร้างสมดุลทรัพยากรทางทะเล 4) การนำเสนอโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ 10 ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โครงการโคก หนอง นา โมเดล ให้โลกรับทราบถึงนโยบายการสร้างระบบอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร แถลงต่อไปว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการ ดังนี้

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ประชุมหารือกับ นาย Jongjin Kim ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายด้านการเกษตรและระบบอาหารของประเทศไทยกับ FAO

2. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาแผนงานในปี พ.ศ. 2564 ที่สำคัญ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UNFSS) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นความสำคัญของการประชุมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลกให้มีความยั่งยืน และเข้าร่วมกิจกรรมประชุมหารือระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน (National Dialogues) เพื่อขับเคลื่อนแผนงานของไทยให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ  นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลักของประเทศไทย (National Dialogues Convenor) สำหรับการประชุม UNFSS

3. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมร่วมกับ Mr. David Narbaro เลขานุการของเลขาธิการ UN ผู้รับผิดชอบการประชุม UNFSS และ Ms. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมข้อมูลในการประชุม UNFSS

4. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนจะดำเนินการจัดเวทีพูดคุยสาธารณะ (National Dialogues) เกี่ยวกับแผนงานและแนวทางในการปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2564 โดยหารือและรวบรวมข้อเสนอจากทุกภาคส่วน ผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ในระบบอาหารและการเกษตร ทั้ง 4 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้) มุ่งเน้นการผนึกกำลังทุกภาคส่วนให้ร่วมคิด ร่วมวางแผนพัฒนาอนาคตของภาคเกษตรไทย เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG ที่ประกอบไปด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) และร่วมสร้างสมดุลใหม่ให้กับภาคเกษตรและระบบอาหารของไทยให้เข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการแข็งขันอย่างยั่งยืน และในเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในเวทีสหประชาชาติต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น