ตายหยังเขียด!ชาวนาเกี่ยวข้าวหอมมะลิขายโรงสีได้ราคาไม่ถึงหมื่นบาท
หากรัฐบาลไม่ช่วยชาวนาม้วยแน่ เปิดตลาดราคาข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ข้าวแห้ง 10,500-11,000 บาท / ตัน ส่วนข้าวมีความชื้น 25-30% โรงสีรับซื้อ 8,500-9,000 บาท ถ้าราคาเป็นเช่นนี้ชาวนาตายแน่ๆ ล่าสุดมีข่าวดี ครม. อนุมัติช่วยในรูปแบบประกันรายได้ของราคาข้าว แต่ต้องรอฟังช่วยมากน้อยแค่ไหน ช่วยได้กี่ตัน กี่บาท
วันที่ 4 พ.ย. 2563 ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือก ข้าวหอมมะลิ ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร ที่ขณะนี้ชาวนาเริ่มทยอยเกี่ยวข้าวส่งขายโรงสี แต่ปรากฏว่าราคารับซื้อได้ราคาไม่ถึง 10,000 บาท / ตัน แต่ชาวนาก็ยังมีความหวังว่า รัฐบาลจะมีมาตรการประกันรายได้มาช่วยเหลือ
ล่าสุดวันนี้ นายพิชัย เมืองมัจฉา พาณิชย์จังหวัดพิจิตร มอบหมายให้ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่อำเภอเมืองพิจิตร วังทรายพูน ตะพานหิน และทับคล้อ เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ซึ่งปลูกภายในจังหวัดพิจิตรการผลิต 2563/2564 รอบที่ 1 ที่คาดการณ์ว่าจะมีข้าวหอมมะลินอกพื้นที่จำนวน 6 แสนไร่เศษ และคาดการณ์ผลผลิตประมาณ 2 แสน 9 หมื่นตัน ที่ขณะนี้ชาวนาเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตขายโรงสีที่อยู่ใกล้บ้านกันบ้างแล้ว แต่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวเป็นเพียงการเริ่มต้นและคาดว่าข้าวจะออกชุกในช่วงกลางเดือน พ.ย. 63 นี้ จึงได้ลงสำรวจโดยไปพบกับผู้ประกอบการรับซื้อข้าวตามโรงสีต่างๆ 14 ราย ในพื้นที่ 4 อำเภอข้างต้น จากการสอบถามผู้ประกอบการรับซื้อข้าวแจ้งว่าราคารับซื้อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ที่ปลูกในจังหวัดพิจิตร ราคารับซื้อวันนี้ ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ความชื้น 15% ราคา 10,500 – 11,000 บาท/ตัน , ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ( เกี่ยวสด ) ความชื้น 25% - 30% ราคา 8,500 – 9,000 บาท/ ตัน โดยพบว่าข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายมีความชื้นเกินกว่า 25% ดังนั้นจึงได้ราคาไม่ถึง 10,000 บาท
ในส่วนของ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิจิตร ก็ได้ใช้มาตรการคุมเข้มกำชับให้ผู้ประกอบการค้าข้าวให้ความเป็นธรรมทางด้านราคา การชั่งน้ำหนัก การตรวจสอบคุณภาพในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร และจะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งก็มีข้อมูลว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบการประกันรายได้ที่จะมีการช่วยเหลือในส่วนต่างของราคาผลผลิตที่จะมีผลกับเกษตรกรตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 เป็นต้นไป ส่วนรายละเอียดการช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด หรือเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ต่อไร่ ต่อตัน หรือว่าต่อครอบครัว นั้น คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง แต่ที่แน่ๆนโยบายรัฐบาลไม่ทอดทิ้งเกษตรกรอย่างแน่นอน
สิทธิพจน์ พิจิตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น