“รมว.กษ. กล่าวเปิดการประชุมระดับโลกด้านระบบอาหารที่ยั่งยืน”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ร่วมกล่าวเปิดการประชุมระดับโลกครั้งที่ 3 ว่าด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน (The 3rd Global Conference on Sustainable Food Systems (SFS) Programme โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่โลกต้องหันมาปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ดังนี้
🍀 การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลกในหลายด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้การค้าและการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรชะลอตัว นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาขยะเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารของผู้บริโภคในช่วงล็อคดาวน์
🍀 ปัญหาข้างต้นสะท้อนถึงความเปราะบางของระบบอาหาร การผลิตอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเพื่อขยายอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเกษตรกรรม ส่งผลกระทบให้สภาพดินเสื่อมโทรม การใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อดิน น้ำ และสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค การสูญเสียในกระบวนการผลิตอาหารและปริมาณขยะอาหารจากพฤติกรรมการกินจนเหลือทิ้งอาหารเป็นจำนวนมาก ล้วนแต่ส่งผลทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
🍀 จากรายงานของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO พบว่าปัจจุบันโลกผลิตอาหารได้เพียงพอกับจำนวนประชากรโลก แต่ประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้ ปัญหาทางโภชนาการ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นความท้าทายที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว
🍀 ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเกษตรกรรมและผู้ผลิตอาหารที่สำคัญ ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเกษตรกรให้มีระบบการผลิตที่เข็มแข็งและยั่งยืน ประชาชนมีสิทธิที่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและดีต่อสุขภาพ โดย รัฐบาลไทยได้ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน และโครงการนมโรงเรียน
🍀 นอกจากนี้ ประเทศไทยได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อมุ่งขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ปฏิรูปภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ และความปลอดภัยของอาหาร เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยดียิ่งขึ้น ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย ที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2573
การประชุม The Global Conference of the One Planet Sustainable Food Systems (SFS) Programme ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2563 ผ่านทางระบบประชุมออนไลน์ โดยได้รับการสนันสนุนจากสำนักงานเกษตรแห่งสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ (Federal Office for Agriculture FOAG) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์แห่งสาธารณรัฐคอสตาริกา (Ministerio de Agricultura Ganaderia de Costa Rica) กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติการก่อสร้างและความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราชอาณาจักรไทย
การประชุมในครั้งนี้ เป็นเวทีในการอภิปรายบทบาทของภาครัฐและเอกชนในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเพื่อความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอาหารจากทุกภาคส่วนได้มีโอกาสกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบอาหารอย่างยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมจะนำไปสู่เนื้อหาสำหรับการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (Food Systems Summit) ในปี 2564 ต่อไป
วันที่ 25 พ.ย. 63 เวลา 19:00 น (เวลาประเทศไทย)
สามารถติดตามรายละเอียดการประชุม (The 3rd Global Conference on Sustainable Food Systems (SFS) Programme ได้ที่ https://www.oneplanetnetwork.org/sustainable-food-system
ข้อมูล: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น