วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“กระทรวงเกษตรฯ” ขานรับมติคณะรัฐมนตรีสัญจรทันที “เฉลิมชัย” สั่งเร่งดำเนินโครงการประกันรายได้ชาวนาและชาวสวนยาง 2.9 ล้านครัวเรือนกว่า 6 หมื่นล้านบาท เผยสินค้าเกษตร-อาหาร และผลิตภัณฑ์ยางครองแชมป์การส่งออกยุคโควิด คาดแนวโน้มดีขึ้นเป็นผลจากโมเดล “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” เตรียมวิเคราะห์ผลกระทบตลาดอเมริกาและจีนหลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

 


“กระทรวงเกษตรฯ” ขานรับมติคณะรัฐมนตรีสัญจรทันที “เฉลิมชัย” สั่งเร่งดำเนินโครงการประกันรายได้ชาวนาและชาวสวนยาง 2.9 ล้านครัวเรือนกว่า 6 หมื่นล้านบาท เผยสินค้าเกษตร-อาหาร และผลิตภัณฑ์ยางครองแชมป์การส่งออกยุคโควิด คาดแนวโน้มดีขึ้นเป็นผลจากโมเดล “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” เตรียมวิเคราะห์ผลกระทบตลาดอเมริกาและจีนหลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงวันนี้ (4 พ.ย.) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการเสริมทันทีหลังจาก ครม.สัญจรภูเก็ตอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/2564 วงเงิน 51,858 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่สองวงเงิน 10,042 ล้านบาทเพื่อดูแลเกษตรกร 2.9 ล้านครัวเรือนรวมวงเงินกว่า 6.19 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวนาและชาวสวนยางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ ครม.สัญจร ยังอนุมัติมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 ประกอบไปด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2564 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 610 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2563 - 31 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมากเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก มีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก และจะส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการชดเชยตามโครงการประกันรายได้ โดยทั้ง 3 โครงการจะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 35,999 ล้านบาท รวมทั้งโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/2564 โดยให้จ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมการส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการจ่ายก่อนในเบื้องต้น วงเงินจ่ายขาด 28,046 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 - กันยายน 2564 (ประกันรายได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - 1 มีนาคม 2564) ยิ่งกว่านั้น ครม.สัญจร ยังได้อนุมัติ โครงการคู่ขนานตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2563 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางขายไม้ยางพาราได้ในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงสนับสนุนการลดพื้นที่ปลูกยางพารา โดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกิน 600 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการโครงการ 4 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายของโครงการมีดังนี้ (1) ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ร้อยละ 80 (2) กระตุ้นการโค่นยาง จำนวน 400,000 ไร่ และดูดซับไม้ยางจากการโค่น จำนวน 12 ล้านตัน และ (3) ราคาไม้ยางที่คาดหวังเฉลี่ย 1,300 บาทต่อตัน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2565

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ภายใต้โมเดล “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” ตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตมีผลทำให้สถานการณ์การส่งออกดีขึ้นติดลบน้อยลง  ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 172,996 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.33% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าติดลบน้อยลง โดยการส่งออกไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% ทำให้ยอดรวมทั้งปี 2563 จะส่งออกมูลค่า 228,904 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบประมาณ 7% ไม่ติดลบถึง 2 หลัก อย่างที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกหลายกลุ่มที่ส่งออกติดลบน้อยลง และหลายตัวเริ่มขยายตัวดีขึ้น โดยมีสินค้า 3 กลุ่มหลักที่ส่งออกเติบโตได้ดี คือ สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นสินค้านอกกลุ่มอาหารคือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์

“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 โลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารและเป็นโอกาสของประเทศไทยในฐานะครัวโลก กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคเกษตรและอาหารอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบายเกษตรปลอดภัย นโยบายตลาดนำการผลิตและนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเน้นแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตภาพ (productivity) รวมทั้งสร้างศักยภาพใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตลอดจนการเดินหน้าปฏิรูปการบริหารของ22หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯเพื่อเพิ่มประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นผลกระทบทั้งบวกและลบกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะวิเคราะห์ผลกระทบทางนโยบายที่มีผลต่อตลาดอเมริกาและจีนทันทีที่ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ตลาดสหรัฐขยายตัวเพิ่มเกือบ 20%

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกของไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นโดยตลาดหลัก เพิ่ม 6.3% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 19.7% ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป 15 ประเทศ อัตราติดลบดีขึ้นโดยลดลงเพียง 1.9% และ 4.4% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.1% โดยอาเซียน 5 ประเทศ ลด 15.6% CLMV ลด 4.8% และเอเชียใต้ ลด 6.3% แต่จีนกลับมาขยายตัว เพิ่ม 6.9% และตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 10.1% โดยตะวันออกกลาง ลด 26.1% ลาตินอเมริกา ลด 14.5% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 31.5% ทวีปแอฟริกา ลด 15.3% แต่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 2.1% เป็นบวกในรอบ 6 เดือน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น