วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ชป.เดินหน้าหาจุดรั่วเขื่อนห้วยยางเพิ่ม หลังอัดฉีดน้ำปูน ช่วยลดปริมาณน้ำที่รั่วได้ผลดี

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียร์วัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง  ลงพื้นที่ติดตามการซ่อมแซมเขื่อนห้วยยาง โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระแก้ว ดร.กัมปนาท ขวัญศิริกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมธรณี กรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน ณ เขื่อนห้วยยาง อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่กรมชลประทานได้เร่งทำการเจาะสำรวจหาพิดกัดจุดที่รั่วซึมบริเวณใต้ฐานเขื่อนห้วยยางโดยวิธีอัดฉีดน้ำปูน (Grout) รวมระยะเวลากว่า 120 ชั่วโมง นับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา จนเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 21.00 น. ได้รับรายงานจากทีมสำรวจด้านวิศวกรรมชลประทานและธรณีวิทยา นำโดย ดร.กัมปนาท ขวัญศิริกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมธรณี กรมชลประทาน ว่าพบรูที่มีน้ำซึมผ่านร่องหินใต้ฐานเขื่อนแล้ว จึงได้ทำการทดสอบซีเมนต์ผสมโซเดียมซิลิเกตอัดฉีดลงไปในรูดังกล่าว พบว่าน้ำที่รั่วออกมามีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถลดอัตราการไหลลงได้ประมาณ 100 ลิตรต่อวินาที ปัจจุบันอัตราการรั่วซึมเฉลี่ย 10 ลิตร/วินาที หลังจากนี้ จะดำเนินการหาจุดที่มีการรั่วซึมเพิ่มเติม เพื่อปิดช่องรอยรั่วให้ได้ทุกจุด 

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนห้วยยาง ปัจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 47.960 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำผ่านท่อกาลักน้ำ อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและท่อส่งน้ำ 1 วันที่ผ่านมารวม 1.224 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำลดลง 8 เซนติเมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 0.104 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ท้ายอ่างฯ พบผลกระทบจากคลองฝั่งขวา 7 แห้ง น้ำท่วมผิวถนนเลียบคลองสูงเฉลี่ย 0.10 เมตร ความยาวเฉลี่ยจุดละ 300 เมตร ส่วนคลองฝั่งซ้ายและคลองห้วยยางยังไม่มีผลกระทบ นอกจากนี้ การลดการระบายน้ำ จะช่วยลดการสูญเสียน้ำ ทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนสำหรับใช้ในการบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรมชลประทานได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ ติดตั้งในจุดต่างๆเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น