กรมชลฯ ระดมกำลังช่วยเมืองตรังสู้น้ำหลาก พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบระบายน้ำที่ท่วมขังให้กับราษฎรในพื้นที่-จัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 24 ชม.
ชป. : เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนหลิ่นฟาและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และ อ่าวไทย มีกำลังแรง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน โดยสถานการณ์น้ำในแม่น้ำตรัง ณ เวลา 12.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2563 ที่สถานีวัดน้ำ X.228 (บ้านกลาง อำเภอเมือง) ซึ่งเป็นสถานีวัดน้ำที่อยู่เหนือปากคลองผันน้ำ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ระดับน้ำอยู่ที่ +8.10 ม.รทก. ขณะที่ระดับตลิ่งอยู่ที่ +9.00 ม.รทก. คงเหลือระดับประมาณ 0.90 ม. น้ำจะเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งระดับน้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด ประกอบกับระดับน้ำบริเวณคันดินปากคลองผันน้ำ เริ่มมีน้ำไหลผ่านเข้าสู่คลองผันน้ำโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการระบายน้ำในแม่น้ำตรัง และ บรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น
“ ปัจจุบันโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง มีผลการดำเนินงานสะสม 28.48% โดยในส่วนของงานก่อสร้างคลองผันน้ำ มีความก้าวหน้าประมาณ 95% จากสภาวะฝนตกหนักในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ล่าสุด กรมชลประทาน ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบระบายน้ำที่ท่วมขังให้กับราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งสั่งกำชับให้หน้าที่ผู้รับผิดชอบฝ่ายก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง เตรียมความพร้อมในการรองรับภาวะวิกฤติ หากมีปริมาณน้ำในแม่น้ำตรังเพิ่มสูงขึ้นจนอาจมีผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยให้ใช้คลองผันน้ำช่วยในการระบายน้ำให้ได้ปริมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที และ ประชาชนในบริเวณแนวคลองผันน้ำจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงจัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชม. "รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดยมีลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างคลองผันน้ำพร้อมอาคารประกอบ เริ่มตั้งแต่บ้านหนองตรุด หมู่ที่ 1 ผ่านหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 ต.หนองตรุด หมู่ที่ 1 ต.นาโต๊ะหมิง และหมู่ที่ 4 ต.บางรัก สิ้นสุดที่บ้านคลองช้าง หมู่ที่ 4 ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง ความยาวคลองประมาณ 7.55 กิโลเมตร ความกว้างท้องคลอง 102 เมตร ความลึกของคลองประมาณ 4.5 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมทั้งก่อสร้างถนนบนคันคลอง ผิวจราจรกว้าง 9 เมตร ทั้ง 2 ฝั่งคลอง มีประตูระบายน้ำ จำนวน 2 แห่ง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าคลองผันน้ำ และมีอาคารรับน้ำเข้าคลองคลอดความยาวของคลองผันน้ำ สามารถแบ่งน้ำที่จะไหลเข้าเขตเมืองได้สูงสุด 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากที่ไหลลงมาในแม่น้ำตรังทั้งหมดประมาณ 1,467 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยคาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีงบประมาณ 2564 นายประพิศ กล่าว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น