วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

ชป.ย้ำทุกโครงการฯใช้น้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนไหลลงสู่ทะเลและแม่น้ำโขง


ชป.ย้ำทุกโครงการฯใช้น้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนไหลลงสู่ทะเลและแม่น้ำโขง  กรมชลประทาน เดินหน้าปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งเข้มให้ใช้อาคารชลประทานควบคุมน้ำก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก อีกทั้งกำชับทุกพื้นที่ให้หาแนวทางสำรองน้ำพร้อมเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ เพื่อให้ผ่านพ้นฤดูแล้งปี 63/64 (1 พ.ย. 63 ถึง 30 เม.ย.64) ไปได้ด้วยดี

กรมชลประทาน : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาภัยแล้ง ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งปี 2563/2564 ที่กำลังจะมาถึงนี้ กรมชลประทานไม่เพียงแต่จะบริหารจัดการน้ำเฉพาะในอ่างเก็บน้ำเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและพัฒนาโครงการชลประทานในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของแก้มลิง การก่อสร้างประตูระบายน้ำ รวมไปถึงระบบสูบกลับ เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำท่าให้ได้มากที่สุด ก่อนที่น้ำจะไหลออกสู่ทะเล หรือแม่น้ำโขงโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมสถานนี้สูบกลับบริเวณปากแม่น้ำสำคัญหลายแห่ง ส่วนโครงการชลประทานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ให้พิจารณาหาแนวทางเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดด้วย

กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบชลประทานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำเลย พร้อมก่อสร้างสถานีสูบกลับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้สั่งการให้ทำคันดิน เพื่อเก็บกักน้ำส่วนหนึ่งไว้ใช้ , โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร และ โครงการประตูระบายน้ำปากแม่น้ำสงคราม เพื่อใช้ในการบริหารน้ำก่อนปล่อยให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขง อีกทั้งยังเป็นการป้องกันอุกภัยในพื้นที่ด้วย เนื่องจากในช่วงฤดูฝนระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงกว่าแม่น้ำสงครามมาก มักจะทำให้เกิดอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม

ในส่วนของภาคตะวันออก ได้สั่งการให้ทำการขุดลอกคลอง หรือลำน้ำสาขาต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำให้มากขึ้น รวมทั้งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ สำหรับใช้ในพื้นที่โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก (EEC) ส่วนในภาคใต้ ได้ดำเนินการขุดขยายบ่อยืมดิน บริเวณทะเลสาบสงขลา สำหรับเก็บกักน้ำจืดเพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ.






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นละออง (PM 2.5) ปี 2568 ในพื้นที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุโขทัย

เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นละออง (PM 2.5) ปี 2568 ในพื้นที่ของกองอำนวยการร...