วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563

รองอธิบดีกรมชลประทาน เร่งดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ยกเป็นโครงการตัวอย่างการพัฒนาแหล่งน้ำ คืนความสมบูรณ์ทางด้านน้ำแก่ชาวหนองคายและอุดรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย โดยมี นายสมพร อารยชาติสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 ร่วมให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปผลการดำเนินงานในด้านต่างๆของโครงการ ณ ที่ทำการชั่วคราว สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 ตำบลบ้านแดนเมือง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย ได้รับการสนับสนุนจากราษฎรในพื้นที่เห็นชอบให้มีการดำเนินการก่อสร้างอย่างเร่งด่วน เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำ เป็นแอ่งกระทะอยู่ใกล้แม่น้ำโขง ในช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงกว่าระดับน้ำในลำน้ำห้วยหลวง ทำให้มวลน้ำในลำน้ำห้วยหลวงไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่กว่า 90,000 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 250 ล้านบาท/ปี ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาอย่างยาวนาน โดยโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ ของจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี รวม 29,835 ครัวเรือน พร้อมทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดหนองคาย รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียง
ในการนี้ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังได้นำคณะทำงาน ลงพื้นติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง พร้อมทั้งเปิดเผยความคืบหน้าว่า "ปัจจุบันผลงานของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย ทั้งโครงการดำเนินการไปแล้ว 2.8% ตามแผนการดำเนินงาน 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561–2569) ประกอบด้วย 5 งาน คือ 1.งานสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ที่จะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงในช่วงฤดูฝน ซึ่งนับเป็นโครงการตัวอย่างที่มีการนำระบบการสูบทอยมาใช้ ผลการดำเนินงาน 25% 2.งานพนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง ยาว 47 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2563 ผลการดำเนินงาน 71% 3.งานอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา 15 แห่ง 4.งานระบบชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ และ 5.ระบบควบคุมอุทกภัยอัจฉริยะ (Smart Flood Control System) ซึ่งเป็นระบบแสดงข้อมูล และประมวลผลแบบเรียลไทม์ เพื่อการพยากรณ์อากาศและการเกิดอุทกภัย
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในโครงการฯ เร่งรัดและดำเนินงานให้ตรงตามแผนที่ได้วางไว้ พร้อมกับสำรวจแก้มลิงในพื้นที่ที่มีอยู่ พัฒนาให้เก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ โดยการทำงานต่างๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ยึดถือประโยชน์แก่ประชาชนเป็นสำคัญ อันจะช่วยสร้างความสุขและความมั่นคงทางด้านน้ำให้แก่ชุมชนได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต.















 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น