สถานการณ์ภัยแล้งคุกคามหนักเกษตรกรกว่า 500 คน จากพิจิตร-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ รวมตัวเรียกร้องให้ กมธ.น้ำฯ หาทางช่วยเหลือ สส.วีระกร คำประกอบ พปชร.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบสภาผู้แทนราษฎร ชี้ทางแก้น้ำในเขื่อนภูมิพลและลุ่มน้ำปิงต้องผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินเดินท่อสูบส่งน้ำเข้าเขื่อน เผยกลุ่มวิสาหกิจจากประเทศจีนเสนอตัวลงทุนแลกกับการขอขายกระแสไฟฟ้าให้กับไทย เชื่อมั่นทำได้จริงแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้ชัวร์
วันที่ 30 มิ.ย. 2563 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังยาง – หนองขวัญ จังหวัดกำแพงเพชร ได้มีกลุ่มเกษตรกรจาก จ.กำแพงเพชร – จ.พิจิตร –จ.นครสวรรค์ รวมแล้วกว่า 500 คน ได้มายืนชูป้ายเรียกร้องขอให้รัฐบาลหาแนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ปีนี้สถานการณ์รุนแรงและส่อเค้าว่าในปีหน้าก็น่าจะเจอปัญหาแบบนี้ซ้ำซากทั้งในแม่น้ำยมและแม่น้ำปิงต่างมีสภาพขาดแคลนน้ำอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากการที่ชาวบ้านเดือดร้อนจึงทำให้ นายวีระกร คำประกอบ สส.จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบสภาผู้แทนราษฎร และคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายสุรชาติ ศรีบุศกร “ ส.ส.ไก่” สส.พปชร.พิจิตรเขต3 , นายสัญญา นิลสุพรรณ สส.พปชร. นครสวรรค์ , นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สส.พปชร.กำแพงเพชร , นายปริญญา ฤกษ์หล่าย สส.พปชร.กำแพงเพชร , นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรรัตน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และเป็นอนุกรรมาธิการ , นายไชยงค์ จงอาสาชาติ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 4 เพื่อรับฟังปัญหาของกลุ่มเกษตรกรจาก 3 จังหวัดดังกล่าว
ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่หน่วยงานชลประทานสามารถช่วยเหลือและแก้ไขได้ ยกเว้นปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลกับโครงการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของแกนนำกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องไปหาทางเจรจาให้ลงเอยและต้องจบลงด้วยดี ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายราชการยืนยันว่าไม่มีปัญหา ซึ่งชาวบ้านที่รับฟังการชี้แจงต่างเข้าใจและพึงพอใจ แต่สุดท้ายข้อเรียกร้องที่จะขอให้โครงการชลประทานส่งน้ำไปให้ทำนาในช่วงนี้นั้น นายวีระกร คำประกอบ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบสภาผู้แทนราษฎร ได้ตอบแบบฟันธงว่าไม่สามารถเอาน้ำจากเขื่อนภูมิพลลงสู่แม่น้ำปิงได้ เนื่องจากเขื่อนภูมิพลที่มีความสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีน้ำเหลือแค่ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดก้นอ่างแล้ว
โดย นายวีระกร รองกมธ.น้ำฯ เปิดเผยว่าวิธีแก้ปัญหาลุ่มน้ำปิงมีทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องผันน้ำมาจากลุ่มน้ำอื่นมาเติมแม่น้ำปิง คือต้องผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน ด้วยวิธีปิดเขื่อนที่ปากแม่น้ำยวม ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเมยที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นก็ใช้วิธีสูบน้ำข้ามภูเขาสูงประมาณ 160-170 เมตร ด้วยท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร ท่อนี้จะมีความยาว 60 กิโลเมตร ให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำแม่งูด น้ำก็จะไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ และไหลลลงสู่เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำที่จะสูบข้ามจากแม่น้ำยวมแห่งเดียวก็จะได้น้ำ 1,750 ลูกบาศก์เมตร/ปี แต่จะสูบเฉพาะหน้าฝนเพื่อเอาน้ำไปกักเก็บในเขื่อนภูมิพล สำหรับความเป็นไปได้ตอนนี้กรมชลประทานกำลังมีการศึกษาร่วมกับประเทศจีนที่จะมาช่วยลงทุนให้ก่อน โดยโครงการของประเทศจีนจะส่งน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาเติมในเขื่อนน้ำยวมอีกประมาณ 2,000-3,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี เมื่อเติมแล้วก็จะมีน้ำที่จะสูบเข้าเขื่อนภูมิพลได้ถึง 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งจะทำให้น้ำในแม่น้ำปิงมีเพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรทั้ง 3 จังหวัด รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย
สำหรับโครงการดังกล่าว นายวีระกร รองกมธ.น้ำฯ กล่าวฝากว่า...ขอให้ประชาชนช่วยสนับสนุนโครงการนี้ โดยกลุ่มวิสาหกิจของรัฐบาลจีนได้ยื่นข้อเสนอมายัง นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) แล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียดรวมถึงกรมชลประทาน ก็กำลังเร่งดำเนินการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม EIA เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี การที่รัฐบาลจีนเข้ามาช่วยดำเนินการลงทุนให้ก่อนนั้น แล้วจะขออะไรแลกเปลี่ยนจากรัฐบาลไทย ก็ขอชี้แจงแบบตรงไปตรงมาว่า จีนลงทุนให้ไทยเพื่อให้เกษตรกรได้น้ำ ก็จะขอแลกกับการขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย โดยที่กระแสไฟฟ้าที่ขายจากที่เราเคยซื้อกระแสไฟจากโครงการแม่น้ำงึม ที่ซื้ออยู่ประมาณยูนิตละ 3 บาท ก็อาจต้องซื้อจากจีน ในราคาเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 25 สตางค์/ยูนิต ซึ่งถือว่าพอรับได้แบบวิน-วิน ซึ่งถ้าหากสำเร็จมั่นใจว่าพี่น้องเกษตรกรลุ่มน้ำปิงจะไม่ขาดแคลนน้ำเพื่อการทำการเกษตรอีกต่อไป
สิทธิพจน์ พิจิตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น