วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ชป.ชี้แจง กรณีการขุดลอกบึงห้วยโจด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ชป.ชี้แจง กรณีการขุดลอกบึงห้วยโจด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น              กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีชาวบ้าน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ร้องขอให้ยับยั้งโครงการขุดลอกบึงห้วยโจด เนื่องจากเกรงว่าเมื่อฝนตกจะเกิดการชะล้างโลหะหนักลงสู่ที่นาของชาวบ้าน ประกอบกับผู้รับเหมาทำการขุดร่องน้ำ เพื่อผันน้ำออกจากห้วยโจด ส่งผลให้ที่นาของชาวบ้านได้รับความเสียหายประมาณ 100 ไร่ รวมทั้ง ให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ให้ข้อมูลกับชาวบ้านให้ครบถ้วน และให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในโครงการดังกล่าว และการกำจัดตะกอนมลพิษจะต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย นั้น
 นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6  ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า  โครงการขุดลอกแก้มลิงบึงห้วยโจด พร้อมอาคารประกอบ ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ได้รับการร้องขอจากเทศบาลตำบลกุดน้ำใส ให้ดำเนินการ     ขุดลอก เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ หรือแก้มลิงเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยก่อนดำเนินโครงการฯ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้จัดทำประชาพิจารณ์ให้ชาวบ้านได้รับทราบถึงการดำเนินโครงการฯแล้วถึง 3 ครั้ง พร้อมทำหนังสือแจ้งขอเข้าปฏิบัติงานไปยังเทศบาลตำบลกุดน้ำใส เพื่อทราบก่อนเข้าดำเนินการ ส่วนกรณีที่ผู้รับเหมาได้ทำการขุดร่องชักน้ำ เพื่อระบายน้ำก่อนการขุดลอกบึงหนองห้วยโจด จนส่งผลให้ที่นาของชาวบ้านได้รับความเสียหาย นั้น เบื้องต้นได้แจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการกลบร่อง- ชักน้ำดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นที่พึงพอใจของผู้ร้องเรียน
กรมชลประทาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา โดยในที่ประชุมได้มีมติให้ทำการขุดเจาะดินที่ขุดลอกนำไปพิสูจน์หาโลหะหนัก ผลปรากฏว่าพบโลหะหนักปนเปื้อนเกินเกณฑ์คุณภาพ 4 ชนิด คือ โครเมียม ปรอท นิกเกิล และสังกะสี โดยบริเวณที่พบการปนเปื้อนมากที่สุดคือ บริเวณกลางบึงห้วยโจดและบริเวณที่น้ำไหลออกจากบึงห้วยโจด อยู่ในเกณฑ์การเฝ้าระวังหากจะมีการนำดินไปใช้ประโยชน์ เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้เสนอแนวทางการดำเนินงานไว้ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ให้ยุติการขุดลอกบึงห้วยโจด เนื่องจากตะกอนดินมีค่าโลหะหนักเกินกว่ามาตรฐานคุ้มครองสัตว์หน้าดิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบน้ำที่ไหลเข้าบึงห้วยโจด และกำกับดูแลต้นเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเสียต่อไป ส่วนแนวทางที่ 2 ให้มีการขุดลอกบึงห้วยโจดต่อไป แต่จะต้องมีการบริหารจัดการดินและน้ำภายในบึงห้วยโจด ไม่ให้ไหลออกไปส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน พร้อมกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลน้ำที่ไหลเข้าบึงห้วยโจด และต้นเหตุที่ทำให้น้ำไม่มีคุณภาพ รวมทั้งเสนอแนะให้ขุดบึงในขนาดที่เพียงพอต่อการรองรับน้ำในเกณฑ์มาตรฐาน  โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่
 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือ เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการตามแนวทางที่ได้มีการเสนอไว้ในที่ประชุมทั้ง 2 แนวทางข้างต้น โดยที่ประชุมมีมติให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ยุติการขุดลอกบึงห้วยโจดไว้ก่อน จนกว่าจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้เป็นที่พึงพอใจของผู้ร้องเรียนต่อไป.









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาชนหลั่งไหลร่วมพิธีประชุมเพลิงสรีระสังขาร หลวงปู่ขันตี ญาณวโร ณ วัดป่าสันติธรรม อ.หนองหิน

ประชาชนหลั่งไหลร่วมพิธีประชุมเพลิงสรีระสังขาร หลวงปู่ขันตี ญาณวโร ณ วัดป่าสันติธรรม อ.หนองหิน วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 พุทธศาสนิกชนจำนวนมากจ...