วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รองอธิบดีกรมชลประทาน​ ลงพื้นที่เขื่อนภูมิพล​ จังหวัดตาก​ ติดตามความก้าวหน้า การผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพลแก้ปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

รองอธิบดีกรมชลประทาน​ ลงพื้นที่เขื่อนภูมิพล​ จังหวัดตาก​ ติดตามความก้าวหน้า การผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพลแก้ปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
​   วันที่​ 26​ ส.ค​  2562​  นายเฉลิมเกียรติ​ คงวิเชียรวัฒน์รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ​ กรมชลประทานพร้อมคณะ​ ลงพื้นที่เขื่อนภูมิพล​ อำเภอสามเงา​ จังหวัดตาก​ ติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล​ ​ โดยมีตัวแทนผู้ใช้น้ำและสื่อมวลชน​ ร่วมรับฟังข้อมูล​ รายละเอียดของโครงการฯ สรุปผลการสำรวจ ออกแบบ​ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก​
   นายเฉลิมเกียรติ​ คงวิเชียรวัฒน์รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน​ กล่าวว่า​ กรมชลประทานเดินหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล​ จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก​ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพลและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยการผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยวมที่มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝน​  โครงการฯ​ นี้จะผันน้ำสูงสุด 1,795  ล้านลูกบาศก์เมตร​ มาเก็บกักไว้ที่เขื่อนภูมิพลซึ่งทำให้มีน้ำใช้ในพื้นที่เกษตรฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 1.61 ล้านไร่ หรือคิดเป็นมูลค่า 8, 845 ล้านบาทต่อปี​  ทั้งยังสามารถเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าของเขื่อนภูมิพล 417 ล้านหน่วยต่อปี​ หรือคิดเป็น 1,14 7 ล้านบาทต่อปี​ รวมทั้งก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวในบริเวณพื้นที่เขื่อนน้ำยวมและทะเลสาบดอยเต่า 9.08 ล้านบาท สร้างประโยชน์ด้านการประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำยวม 0.62 ล้านบาท​ ตลอดจนมีการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้มากถึง 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งสามารถตอบสนองการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างมาก
   โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก​ ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี​( พ.ศ. 2558-2569)​ ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ​ มุ่งเน้นเรื่องการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรม​ พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ​ การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ​ รวมถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการทำงานและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
  ผลการสำรวจออกแบบโครงการฯ​ แบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ​ โดยมีงานเขื่อนน้ำยวมและอาคารประกอบ​ ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำยวมเหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมยทางด้านเหนือน้ำประมาณ 13.8 กม. ระหว่างอำเภอสบเมยจังหวัดแม่ฮ่องสอนและอำเภอท่าสองยางจังหวัดตาก​ เป็นเขื่อนคอนกรีตถ่วงน้ำหนักมีความสูง 69.50 เมตร มีอาคารระบายน้ำล้น และประตูระบายน้ำ 3 บาน​ สำหรับงานสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา​ มีเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 เครื่อง​ สุดท้ายเป็นงานระบบอุโมงค์และถังพักน้ำ ที่มีความยาวของระบบแนวอุโมงค์ส่งน้ำ​ 63.47 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ใต้ดินผ่านอำเภอสบเมยจังหวัดแม่ฮ่องสอน​ อำเภออมก๋อย​ จังหวัดเชียงใหม่ และส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงไหลลงห้วยแม่งูด​ ตำบลนาคอเรืออำเภอฮอด​ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะไปสู่ทะเลสาบอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล
  การสำรวจออกแบบโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล​ มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562​ แล้วจึงนำเสนอโครงการฯ​ ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี​ หากดำเนินการได้ตามแผนนี้​ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 รวมระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี​ วงเงินก่อสร้างประมาณ 63, 300 ล้านบาท








ภาพ/ข่าว/สนง.ปนะชาสัมพันธ์จังหวัดตาก
สมภพ ข่าวonline  รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น