เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562 พลโท ธวัช ศรีสว่าง รองผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก ดร. รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 และร้อยเอก หญิง มณฑิรา พรมศรี ผู้ช่วยโฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมทีมช่างภาพ PR ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 ...พบปะสื่อมวลชนเมืองชาละวัน จำกัด แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานในภารกิจที่สำคัญของกองทัพภาคที่ 3 ตามนโยบายของกองทัพบก ณ โรงแรม มีพรสวรรค์ แกรนด์ โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยมี นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ร่วมกิจกรรมด้วย มีสาระสำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤต , การช่วยเหลือประชาชนประเทศเพื่อนบ้าน , การปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้
การฟื้นฟูและการบริหารจัดการแม่น้ำพิจิตร แม่น้ำน่าน เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในอดีต อีกทั้งเป็นแหล่งอารยธรรม “เมืองเก่าพิจิตร” ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำแห่งแรกที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยอยู่ มีอายุอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 1600 ต่อมาใน พ.ศ. 2410 แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทางเดินน้ำไหลไปทางทิศตะวันออก กลายเป็นแม่น้ำน่านในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำน่านสายเก่าจึงกลายเป็นแม่น้ำที่เรียกกันต่อมาว่า “แม่น้ำพิจิตร” ไหลผ่าน 13 ตำบล ของ อำเภอเมืองพิจิตร, อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอตะพานหิน ไหลบรรจบกับแม่น้ำยม ที่หน้าวัดบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร รวมความยาวทั้งสิ้น 127 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน กว่า 45,000 ไร่
ต่อมา เมื่อไม่มีน้ำจากแม่น้ำน่านเข้ามาเติมเป็นเวลานาน ประชาชนต้องอาศัยเพียงน้ำฝนที่ตกลงมาเพียงเท่านั้น ส่งผลให้แม่น้ำพิจิตรตื้นเขินและถูกบุกรุก เกิดการถมฝายดินที่ผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ขัดขวางการไหลของแม่น้ำอย่างรุนแรง
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพิจิตร ร่วมกับ ประชาชนอาสาสมัครท้องถิ่น “กลุ่มขุนศึกลูกพ่อปู่กอบกู้แม่น้ำพิจิตร” ได้ร่วมกันฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา จึงทำให้เริ่มมีน้ำเข้ามา หล่อเลี้ยงแม่น้ำพิจิตรอีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจราชการและรับทราบปัญหา ทำให้การฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งเก็บกักน้ำ โดยแบ่งแผนงานเป็น 2 ระยะ ดังนี้.-1. ระยะเร่งด่วน : ประกอบด้วยงานสำคัญ 6 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจที่ 1 : งานขุดลอกแม่น้ำพิจิตร , ภารกิจที่ 2 : งานกำจัดผักตบชวา, ภารกิจที่ 3 : งานปรับปรุงซ่อมแซมประตูระบายน้ำดงเศรษฐี, ภารกิจที่ 4 : งานเติมน้ำแม่น้ำพิจิตร, ภารกิจที่ 5 : งานสำรวจเชิงวิศวกรรม และ ภารกิจที่ 6 : งานสำรวจสิ่งรุกล้ำทางน้ำ การย้ายบ้านบุกรุกพื้นที่ออกจากแม่น้ำพิจิตร 2. ระยะสั้น : คืองานศึกษาการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรของแม่น้ำพิจิตร มีรายละเอียด ดังนี้.- การเติมน้ำจากแม่น้ำยม และ การส่งน้ำจากระบบชลประทานเข้าเติมเต็มแม่น้ำ
ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 กับการช่วยเหลือประชาชน กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ในทุกพื้นที่หน่วยทหาร เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ในห้วงฤดูฝน ได้แก่ อุทกภัย, น้ำป่าไหลหลาก, ดินโคลนถล่ม และวาตภัย เป็นต้น โดยความร่วมมือของส่วนราชการ, ภาคเอกชน และประชาชนจิตอาสา ในการระดมศักยภาพ เตรียมความพร้อมของกำลังพล, ยุทโธปกรณ์ และชุดแพทย์เดินเท้าเคลื่อนที่ในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ห้วงวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2562 ได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ เนื่องจากผลกระทบของอิทธิพลพายุดีเปรสชั่น "วิภา" ที่พาดผ่าน 7 จังหวัดภาคเหนือ โดย ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้ร่วมกับ ส่วนราชการในพื้นที่ ได้ระดมกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์ เข้าให้การช่วยเหลือแล้ว
ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 จึงได้มีการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมการปฏิบัติอยู่เสมอ เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ขอให้ท่านได้กรุณาแจ้งข่าวสารได้ที่ หน่วยทหารใกล้บ้านหรือศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 หมายเลขโทรศัพท์ 055 - 242859
นกพิราบศูนย์ข่าวพิจิตร
ภาพข่าวศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่
3
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น