วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งเตรียมการรับมือ จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ป้องกันปัญหาเที่ยวบินป่วนแบบยุโรป - สหรัฐอเมริกา พร้อมมีมติขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อไปอีก 1 ไตรมาส


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งเตรียมการรับมือ จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ป้องกันปัญหาเที่ยวบินป่วนแบบยุโรป - สหรัฐอเมริกา พร้อมมีมติขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อไปอีก 1 ไตรมาส

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือนได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ประสานงานกับผู้ประกอบการสายการบิน สนามบิน รวมทั้งผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังพบว่าระบบการขนส่งทางอากาศในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีความโกลาหล จากการที่ประชาชนมีความต้องการเดินทางพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง ในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565
จากกรณีที่สนามบินทั่วยุโรปและในสหรัฐอเมริกาเกิดความโกลาหลอย่างหนัก โดยมีผู้โดยสารและสัมภาระตกค้างจากการยกเลิกเที่ยวบินและมีเที่ยวบินล่าช้าเป็นจํานวนมาก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นมา โดยในยุโรปได้มีการยกเลิกเที่ยวบินไปแล้วเกือบแสนเที่ยวบิน ส่วนในสหรัฐอเมริกายกเลิกเที่ยวบินไปไม่น้อยกว่า 20,000 เที่ยวบินในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง ทําให้มีนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ทั้งยุโรปและอเมริกาประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการบิน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับลดพนักงานไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผลกระทาบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทําให้เจ้าหน้าที่ต้องกักตัวจนขาดผู้ปฏิบัติงาน ประกอบกับในหลายประเทศมีการนัดหยุดงานของบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน ประธาน กบร. จึงได้สั่งการให้ กพท. และ บวท. เตรียมความพร้อมทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นในระบบการบินของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่จะมีเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนนี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มติส่งเสริมการฟื้นตัวและผลักดันการเติบโตอุตสาหกรรมการบินของไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. การขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในไตรมาสที่ 3/2565
ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้จำนวนเที่ยวบินรวมทั้งจำนวนผู้โดยสารทั้งในและระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ ซึ่งจากนโยบายการผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศในไตรมาสที่ 2/2565 ทำให้จำนวนผู้โดยสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการสายการบินยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและระดับราคาน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของสายการบิน ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสายการบิน ให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และสถานการณ์แวดล้อมอื่น ๆ กบร. จึงมีมติให้ขยายมาตรการช่วยเหลือ สายการบินออกไปอีกในไตรมาสที่ 3/2565 ดังนี้
1.1 มาตรการด้านการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ขยายระยะเวลาปรับลดค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) ลง ร้อยละ 50 ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ และขยายเวลาการยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ให้แก่สายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราว
1.2 มาตรการทางการเงิน กพท. ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Terms) ค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ จาก 15 วันเป็น 90 วัน และยกเว้นเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) ให้กับสายการบินที่นำส่งค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกประเทศล่าช้า ขณะที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราค่าเช่าสำหรับทุกกิจกรรมในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2565
สำหรับแนวโน้มของจำนวนผู้โดยสารต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย สถานการณ์การอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐให้เป็นเงินบาทไทยในจำนวนที่มากขึ้น ในขณะเดียวกัน สถิติจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประมาณการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 1.08 ล้านคน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน โดยในไตรมาสที่ 2 และ 3 จะมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากเป็นฤดูกาล Low season ของการท่องเที่ยว แต่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากเป็น High season และในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 19 ล้านคน
สำหรับกลุ่มผู้โดยสารชาวจีน ปัจจุบันรัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศกับไทย แต่ยังคงอนุญาตให้เฉพาะการเดินทางที่จำเป็นในกลุ่มนักธุรกิจ นักเรียนและนักศึกษา โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CAAC) อนุญาตให้สายการบินของไทยและจีน ทำการบินแบบประจำรับขนส่งผู้โดยสารระหว่างไทยกับจีนฝ่ายละ 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ ช่วงเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2565 โดยจากจำนวนเที่ยวบินจะยังไม่ส่งผลมากต่อการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศกับกลุ่มตลาดใหญ่อย่างจีน และเป็นจุดเริ่มต้นให้ สายการบินของไทยได้เตรียมความพร้อมตามมาตรการสาธารณสุขของจีนด้วย หากสายการบินของไทยดำเนินการไปได้ด้วยดี ทางการจีนอาจเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้กับประเทศไทยต่อไป
2. การทบทวนแผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ
กบร. ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนแผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนหลักในการพัฒนาระบบห้วงอากาศและโครงสร้างพื้นฐานระบบการเดินอากาศของประเทศไทย ให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยปรับให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งในแง่ของกรอบเวลาและแผนการพัฒนาด้านอื่น ๆ ของไทย
3. การออกใบอนุญาตและต่อใบอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการการบินพลเรือน

กบร. ได้มีมติเห็นชอบให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนให้ผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอ 2 ราย ได้แก่ บริษัทเอเซีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จํากัด และบริษัทแอร์ อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด รวมทั้งเห็นชอบให้ต่อใบอนุญาตฯ ให้ผู้ประกอบการ 4 ราย ได้แก่ บริษัทเอเชี่ยน แอโรสเปซ เซอร์วิส จํากัด บริษัท แอ๊ก โกลบอล จํากัด บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จํากัด และบริษัท เอ็มเจ็ท จํากัด ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนได้ตรวจสอบคุณสมบัติและพิจารณาให้ความเห็นชอบในเบื้องต้นมาแล้ว


นกพิราบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นละออง (PM 2.5) ปี 2568 ในพื้นที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุโขทัย

เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นละออง (PM 2.5) ปี 2568 ในพื้นที่ของกองอำนวยการร...