วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565

ศรัณย์วุฒิ หน.พรรคเพื่อชาติ ขอความเป็นธรรมให้คนท่าแฝก อาศัยอยู่ก่อน 300 ปี มีต้นมะขามยักษ์ – วัดป่ากั้ง หลักฐานประจักษ์พยาน อยู่ทำกินก่อนประกาศเป็นพื้นที่ป่า สส.อุตรดิตถ์ แฉ! โดนเจ้าหน้าที่ไล่จับตะครุบเหมือนกบเหมือนเขียด ชาวบ้านไม่อยากได้ คทช.จาก “บิ๊กป้อม” เตรียมยื่นหนังสือขอโฉนดแทน นางพญาได้แนวกันไฟถึงบ้านห้วยต้า 9 กิโลเมตร


เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 65 นายศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ สส.อุตรดิตถ์ กล่าวเปิดเผยถึงความคืบหน้า หลังจากพาชาวบ้านตำบลท่าแฝก อ.น้ำปาด และตัวแทนชาวบ้านจากตำบลนางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เข้าพบ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน ที่กรุงเทพมหานครฯ ให้ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในเรื่องที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านยอมเสียสละที่ดินทำกินอันอุดมสมบูรณ์ของตนเองในพื้นที่อำเภอท่าปลา เพื่อการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อปี พ.ศ. 2513 สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนไทยทั้งประเทศได้มีไฟฟ้าใช้กัน ยอมอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ตามที่รัฐบาลจัดสรรให้ใหม่ ใกล้กับแปลงที่ดินของชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนนานหลายปีแล้ว แต่ถูกประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าจริม” อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทับซ้อนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล ใน 2 อำเภอ ส่งผลทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมทั้งไม่สามารถขอออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวได้ ทั้งที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนการบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และก่อนมีการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่า และยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐไล่จับดำเนินคดี ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าจริม” เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.ในเบื้องต้นขอรับการจัดสรรที่ดินตามที่รัฐบาลจัดให้ โดยขอให้กรมที่ดินดำเนินการออกสมุดหรือหนังสือประจำตัวให้กับชาวบ้านพื้นที่ตำบลท่าแฝก อำเภอน้ำปาด และ ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา ได้มีที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง สามารถสร้างอาชีพและเกิดรายได้กับทุกครัวเรือน พร้อมสำรวจ คทช.ให้กับชาวบ้านที่ตกหล่นอีกจำนวนมาก ได้มีหนังสือประจำตัวและไม่ต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐไล่จับกุมอีกต่อไป 

นายจตุพร ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ นายศักดา มณีวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนจัดการสิทธิ์การใช้ที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการดินป่าไม้ กรมป่าไม้ และ นายเกษม  พรมมา ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการป่าไม้3 ลำปาง พร้อมคณะ ลงพื้นที่วัดป่ากั้ง หมู่5 ตำบลท่าแฝก ประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงรูปแบบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับ คทช.เพื่อชาวบ้านจะได้รับหนังสือยืนยันการได้สิทธิ์ถือครอง แต่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ครอบครอง รวมถึงการสำรวจที่ดินเพิ่มเติมให้กับผู้ตกหล่นที่จะต้องได้รับหนังสือหรือสมุดพกในรอบต่อไป

นายศรัณย์วุฒิ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ สส.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เรียนพี่น้องคนไทยทั้งแผ่นดิน คนท่าปลาหรือคนท่าแฝกได้เสียสละที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ ต้องอพยพโยกย้ายตามถิ่นที่ทางราชการสั่งเวนคืนย้ายที่ดินของพวกเขา การย้ายให้ค่าชดเชยน้อยมากเป็นหลักร้อย ไม่ใช่หลักหมื่นหลักพันหรือหลักแสน และบอกพี่น้องประชาชนว่า ย้ายไปเถอะพร้อมรับปากรับคำกับชาวบ้านว่า น้ำจะไหล ไฟสว่าง ทางดี มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่พอไปถึงตรงข้ามกับสิ่งที่พูดกับชาวบ้าน เป็นนรกชัดๆเลย น้ำก็ไม่ไหล ไฟก็ไม่มี ถนนก็ไม่ดีและไม่มีอะไรสักอย่าง นี่คือความเจ็บช้ำของพี่น้องประชาชนคนอำเภอท่าปลาและคนตำบลท่าแฝกด้วย ชาวบ้านเสียสละที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ ที่เคยมีน้ำอุดมสมบูรณ์ทำกินได้ แต่ต้องไปอยู่บนภูเขาหินผุและไม่มีอะไรสักอย่าง ทำให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอท่าปลา ตำบลท่าแฝกมีฐานะยากจนมาก มิหนำซ้ำยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินมาซ้ำเติมอีก เอกสารสิทธิ์ก็ไม่มี บางครอบครัวอยู่อาศัย มีต้นมะขาม อายุถึง 300 ปี เป็นประจักษ์พยาน หลักฐานก่อตั้งวัดป่ากั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2410 เป็นประจักษ์พยานเช่นกัน แต่ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ มันเป็นไปได้อย่างไร จึงอยากให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน 

นายศรัณย์วุฒิ  กล่าวว่า ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดินต้องรับทราบเรื่องนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสส.ศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ คนนี้ ได้เข้ามาก็ต่อสู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ถูกไล่จับตะครุบเหมือนกบ เหมือนเขียด แค่ทำกินในที่ดินของตนเองไม่ได้เลย ได้พาชาวบ้านไปพบปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพบอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อยื่นความจำนงว่าเราไม่ได้ประสงค์อยากได้ คทช. แต่คงรักษาสิทธิ์อันพึ่งได้ของเรา ที่มีโอกาสจะได้รับโฉนดที่ดินกับเขา เพราะหลักฐานมีประจักษ์ให้พบเห็นว่า ชาวบ้านเคยอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน แต่ถูกประกาศทับที่ดิน และนี่คือนโยบายของพรรคเพื่อชาติที่ต้องต่อสู้ให้กับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจังหวัดใดหรือที่ไหนประสบปัญหาในเรื่องนี้ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อชาติจะเข้าไปช่วยเหลือทุกจังหวัด ซึ่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมอธิบดีกรมที่ดินรับปากจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการ ตนจะเร่งรัดให้กับชาวบ้านเร็วที่สุด

“ ฝากถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) วันที่ 4 เมษายนนี้ จะลงมาแจกเอกสารหรือสมุดพก คทช.อยากบอกว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่อยากได้ คทช. แต่ชาวบ้านอยากได้สิทธิ์และเอกสิทธิ์ที่พึงมี ในการได้เอกสารสิทธิ์ในเรื่องโฉนดที่ดินทำกิน คทช.มาแค่ในส่วนที่ชาวบ้านทำกินได้รัฐบุกรุกที่ประชาชนหรือประชาชนบุกรุกที่รัฐ ยังไม่ได้มีการพิสูจน์สิทธิ์เท่านั้นเอง ซึ่งชาวบ้านได้เตรียมยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ประธาน คทช.ในวันดังกล่าว ตนได้ลงไปพบปะพี่น้องประชาชนรู้สึกพึงพอใจมาก ที่ตนได้ต่อสู้ให้กับชาวบ้านจนกระทั่งได้ คทช.เพื่อหลีกเลี่ยงถูกราชการดำเนินคดีกับพวกเขา แต่สิทธิ์ของชาวบ้านยังคงอยู่โดยมีการยื่นหนังสือไว้แล้วทั้งที่กรมที่ดินและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายศรัณย์วุฒิ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ตำบลท่าแฝก มีเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าจริม เนื้อที่ประมาณ 73,561 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่คงสภาพป่า 24,267 ไร่ และพื้นที่ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) จำนวน 49,294-3-50 ไร่ ผลการดำเนินงานดังนี้ กลุ่มที่1 ก่อนมติครม. 30 มิ.ย.41 เนื้อที่ 18,132-3-50 ไร่ ดังนี้  โดยพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำนวน 12,185-3-50 ไร่ พื้นที่ตกหล่นและยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 จำนวน 5,317 ไร่, กลุ่มที่ 2,3,4 ยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจตามมติ ครม. 26 พ.ย. 61 จำนวน 7,526 ไร่ ดังนี้ กลุ่มที่ ๒ (พื้นที่ลุ่มน้ำ 3,4,5 ครอบครองระหว่าง 2545-2557) เนื้อที่ 5,261 ไร่ กลุ่มที่ 3 (พื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 ตามมติ 30 มิ.ย. 41) เนื้อที่ 1,254 ไร่ กลุ่มที่ 4 (พื้นที่ลุ่มน้ำ1,2 ครอบครองระหว่าง45-57) เนื้อที่ 1,011 ไร่  ทั้งนี้ ในส่วนกรณีพื้นที่ คทช.ตกหล่นและไม่ได้สำรวจที่อยู่อาศัย ตามมติ 30 มิ.ย. 41 ในท้องที่ตำบลท่าแฝก จำนวนประมาณ 5,317 ไร่ อาจเนื่องมาจากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรมป่าไม้ในเวลานั้น และยังไม่ได้มีการดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทากินให้ชุมชน ตามมติ ครม. 26 พ.ย.2561 ในกลุ่มที่ 2,3,4 รวมจานวนประมาณ 7,526 ไร่

ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านว่า กรณีราษฎรผู้ร้องเรียนว่ามีการตั้งชุมชน วัด ในท้องที่ตำบลท่าแฝก ก่อนมีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าจริม ได้มีการสอบถามถึงข้อมูลเบื้องต้นพร้อมทั้งชี้แจงว่า การดำเนินงานสำรวจที่ดินภายใต้โครงการ คทช. ไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิ์ของการตรวจสอบและการขอเอกสารสิทธิ์แต่อย่างใด โดยหากมีการสำรวจที่ดินและมีการอนุญาตให้ทำ คทช. แล้ว เมื่คณะกรรมการจัดที่ดิน (สานักงานที่ดินจังหวัด) ภายใต้ คทช.จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณสมบัติและอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการแล้ว ราษฎรที่มีหลักฐานตามการกล่าวอ้าง ก็สามารถแจ้งต่อคณะกรรม การฯ ที่ลงปฎิบัติงานในพื้นที่ได้ เพื่อให้มีการพิสูจน์สิทธิ์และขอออกเอกสารสิทธิ์ได้ตามระเบียบและข้อกฎหมายที่กำหนดต่อไป

อบต.นางพญาประสงค์จะจัดทำในลักษณะทางตรวจการณ์หรือแนวกันไฟสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 11 พิษณุโลก แจ้งว่าไม่ขัดข้องที่จะให้ดำเนินการให้ จากพื้นที่ตำบลนางพญา– บ้านห้วยต้า ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิด ชอบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน)

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันที่ 4 เมษายน 65 พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ มีกำหนดการเดินทางโดยเครื่องบิน Embraer บ.ท.135 ของทบ.จาก กบบ.ศคย.ทบ.ดอนเมือง กรุงเทพฯ รับการตรวจ ATK เดินทางถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 46 จ.พิษณุโลก และเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร บน.46 ยังสนามบิน ฮ.ชั่วคราวที่ดรงเรียนบ้านป่ากั้งวิทยา ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ โดย ฮ.ทบ.2 เครื่อง และเดินทางโยรถยนต์จากโรงเรียนป่ากั้งวิทยาไปยังท่าเรือปากนาย เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการสะพานปากนาย จุดเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์กับจังหวัดน่าน  

จากนั้นเดินทางโดยรถยนต์จากท่าเรือปากนายกลับมายั้งโรงเรียนป่ากั้งวิทยา เพื่อเป็นประธานในพิธีมอบหนังสือหรือสมุดที่ดินทำกินให้กับชุมชนตามนโยบายของ คทช.เนื้อที่ประมาณ 6,938 ไร่ ราษฎรที่ได้รับจำนวน 1,037 แปลง เป็นอันเสร็จพิธี ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องได้รับการตรวจคัดกรอง ATK จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน เพื่อป้องกันโรคโควิดระบาดต่อผู้เข้าร่วมงานในพิธีครั้งนี้














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นละออง (PM 2.5) ปี 2568 ในพื้นที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุโขทัย

เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นละออง (PM 2.5) ปี 2568 ในพื้นที่ของกองอำนวยการร...