วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

นายกรัฐมนตรี  ลงพื้นที่ จ.พิจิตร ตรวจติดตามสถานการณ์สาธารณภัย กำชับทุกภาคส่วนและจิตอาสา เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเร่งด่วน ให้กำลังใจครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต


นายกฯ ลงพื้นที่ จ.พิจิตร ตรวจติดตามสถานการณ์สาธารณภัย กำชับทุกภาคส่วนและจิตอาสา เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเร่งด่วน ให้กำลังใจครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ย้ำถอดบทเรียนเตรียมรับมือภัยพิบัติทุกประเภท

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจติดตามสถานการณ์สาธารณภัย (วาตภัย) โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร, หัวหน้าส่วนราชการ, จิตอาสา 904 จังหวัดพิจิตร, จิตอาสาภัยพิบัติจังหวัดพิจิตร และประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนวัดเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร พร้อมตรวจเยี่ยมบริเวณโดมของโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย พบปะให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนจากสถานการณ์วาตภัย โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนดูแลรักษาจิตใจให้สงบ ปรึกษาเจ้าหน้าที่ ดูแลซึ่งกันและกัน ขอให้ดำรงชีวิตอยู่ให้ได้และมีกำลังใจที่ดี โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีสอบถามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความห่วงใย และกล่าวในนามของรัฐบาลขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและครอบครัว ย้ำไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องนำมาทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ด้วยความเร็วลม 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของพายุ จึงมีผลต่อโครงสร้างของอาคาร สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นบทเรียนให้กับทุกหน่วยงาน ทุกพื้นที่สำรวจความเข้มแข็งของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ให้ครบถ้วน กำหนดพื้นที่ความเสี่ยงที่อาจจะมีปัญหาในอนาคต รวมทั้งวิธีการจัดการกับเหตุการณ์รูปแบบเดียวกันนี้ในอนาคต คาดหวังเห็นการอำนวยการ การเตรียมพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อม มีคณะทำงานรับมือก่อนเกิดเหตุ ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทันทีผ่านช่องทางการสื่อสารที่สามารถทำได้ เช่น หอกระจายข่าวชุมชน ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ แนะนำแนวทางการปฎิบัติตัวและการรับมือ สิ่งสำคัญที่สุดคือความพร้อมของศูนย์ฯ ต้องมีแผนมีขั้นตอนในการรับมือสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง วาตภัยเป็นต้น ต้องมีแผนรองรับไว้ทั้งหมด แบ่งเป็นระดับการบริหารจัดการ ผู้รับผิดชอบและแนวทางการรับมือ การติดต่อสื่อสารและการกระจายข่าวสารสู่ประชาชน


นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือที่จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด การซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือน ระดมสรรพกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันซ่อมแซมฟื้นฟูเพื่อให้อยู่อาศัยได้ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือฯ ต้องดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่สภาพปกติ ต้องติดตามขั้นตอนการช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำให้ทุกคนไม่ประมาท เตรียมพร้อมรับมือ มีคณะทำงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากนี้คือ after action review การถอดบทเรียน ทบทวน ตั้งสมมุติฐานภัยพิบัติทุกประเภท มีแนวทางการปฏิบัติทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ 1-2-3 การรับมือ การให้ความช่วยเหลือ มีการซักซ้อมเตรียมรับเหตุการณ์เพื่อบรรเทาสาธารณภัยในทุก ๆ เรื่องครอบคลุมทุกมิติ ในส่วนของการดำเนินการด้านงบประมาณ และการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ หากได้รับแล้วต้องรีบดำเนินการโดยทันทีตามระเบียบของทางราชการอย่างถูกต้องและเหมาะสม


นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ต่าง ๆ สำรวจอาคารในลักษณะเดียวกัน โครงสร้าง ความแข็งแรง ประเมินความเสี่ยงทั้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อลดความสูญเสียและกระชับเวลาในการบริหารจัดการ และให้ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมทั้งการดูแลด้านสุขภาพจิต ต้องติดตามประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบเหตุและครอบครัว ดูแลเยียวยาด้านจิตใจ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำความรักความสามัคคีของคนไทยทุกคนเพื่อผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกัน ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น เร่งประสานความร่วมมือ สำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามระเบียบของทางราชการอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือต่าง ๆ เข้าให้การช่วยเหลือฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้กำชับให้ทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับพายุในช่วงฤดูฝน เตรียมแผนเผชิญเหตุพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก แจ้งเตือนผ่านสื่อทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องและทันเหตุการณ์ แนะประชาชนติดตามข่าวสารสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด เพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากพายุในช่วงฤดูฝนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด  จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปเยี่ยมบ้านครอบครัวของผู้เสียขีวิต ณ บ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 116/5 หมู่ที่ 18 ตําบลเนินปอ อําเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร และได้เข้าเคารพศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีเยี่ยมบ้านเรือนและทักทายประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์วาตภัยในบริเวณใกล้เคียงด้วย ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยจากสถานการณ์วาตภัย ณ โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่ยังพักรักษาตัวอยู่ ณ หอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง ชั้น 3 จำนวน 2 ราย และหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก ชั้น 2 จำนวน 2 ราย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บพร้อมขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นและหายป่วยในเร็ววัน ขอให้ญาติและครอบครัวมีกำลังใจที่ดี ในส่วนของการดูแลช่วยเหลือเยียวยาขอให้หน่วยงานประสานดูแลให้ครบถ้วนและดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบต่อไป

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์วาตภัยที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อาคารโดม โรงเรียนวัดเนินปอถล่ม มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บรวม 18 ราย แบ่งเป็นผู้บาดเจ็บสาหัส 6 ราย และกลับบ้านได้แล้ว 12 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.00น.) และอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่ประสบภัย 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหาย 408 หลัง โรงเรียน 2 แห่ง วัด 1 แห่ง ซึ่งจังหวัดพิจิตรได้ประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแล้ว ประกอบด้วย ตำบลเนินปอ 7 หมู่บ้าน ตำบลรังนก 6 หมู่บ้าน และตำบลสามง่าม 3 หมู่บ้าน โดยมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์และให้ความช่วยเหลือสาธารณภัย วาตภัย อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ขึ้น ณ อาคารอเนกประสงค์ หมู่ที่ 1 ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม เป็นจุดประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ทั้งการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ประสบภัย การซ่อมแซมฟื้นฟูสถานที่เกิดเหตุ และเป็นศูนย์กลางการรับบริจาคปัจจัย สิ่งของช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน


ดยรัฐบาลได้มอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1) ค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท

2) เงินทุนเลี้ยงชีพ สำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิต 30,000 บาท และครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท

สำหรับผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สาธารณภัยทั่วไป จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้บาดเจ็บสาหัส รายละ 30,000 บาท และผู้บาดเจ็บเล็กน้อย รายละ 15,000 บาท ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างรอข้อมูลสรุปรายละเอียดผู้บาดเจ็บจากทางจังหวัดพิจิตร เพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเงินกองทุนช่วยเหลือฯ พิจารณาจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บต่อไป

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 10,000 บาท (จ่ายแล้ว) และเงินช่วยเหลือสำหรับผู้บาดเจ็บสาหัส รายละ 5,000 บาท ผู้บาดเจ็บ รายละ 3,000 บาท อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะมอบเงินช่วยเหลือเฉพาะนักเรียน โดยจะมีการพิจารณาทบทวนการมอบเงินช่วยเหลือให้ครอบครัวอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดพิจิตร มอบเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้

1) ค่าสะเทือนใจ รายละ 2,300 บาท 

2) ค่าทำศพ รายละ 29,700 บาท

3) ในกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้ที่ทำงานเลี้ยงดูครอบครัวเป็นหลัก มอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวเพิ่มให้อีก 29,700 บาท 

4) ผู้บาดเจ็บพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เกิน 3 วัน มอบเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมรายละ 4,000 บาท 

นอกจากนี้ ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรการกุศล จิตอาสา 904 จิตอาสาภัยพิบัติ มูลนิธิต่าง ๆ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยเพิ่มเติม ทั้งในเรื่องของสถานภาพความเป็นอยู่ การเยียวยาด้านจิตใจ รวมถึงการฟื้นฟูสถานที่เกิดเหตุเพื่อให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วด้วย
































ภาพข่าวศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3  ธีรพงศ์ นาคแนม (นกพิราบศูนย์ข่าว จังหวัดพิจิตร) ศูนย์ประสานงานข่าว โทร 0831671688 รายงาน ** คนรู้จักพัก ทว่าไม่รู้จักพอ **


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น