วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

รมว.ยุติธรรม ขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมในระดับพื้นที่ - สร้างกลไกการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน พร้อมพบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน



รมว.ยุติธรรม ขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมในระดับพื้นที่ - สร้างกลไกการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน พร้อมพบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน

       ในวันศุกร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ โรงแรมไพลินสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการและแถลงนโยบายขับเคลื่อนไทยด้วยยุติธรรมสร้างสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔

       นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ด้านความมั่นคงให้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหรือเหยื่ออาชญากรรมให้มีความรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทต่าง ๆ จึงจัดตั้ง “ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข” ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยรับเรื่องจากประชาชนในหลายช่องทาง เช่น สายด่วนยุติธรรม ๑๑๑๑ กด ๗๗ เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น Justice Care ศูนย์ยุติธรรมชุมชน และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด

       โดยกระทรวงยุติธรรม ได้จัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวน ๘๑ แห่ง แบ่งออกเป็น สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ๗๖ จังหวัด และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ๕ สาขา ทำหน้าที่เป็นผู้แทนกระทรวงยุติธรรมในการอำนวยความเป็นธรรมในระดับพื้นที่จังหวัด และมีการให้ความช่วยเหลือประชาชน ภายใต้แนวคิด “ยุติธรรมสร้างสุข ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุข ให้ประชาชน” โดยมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ครอบคลุมความเสียหายและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกด้าน โดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัดจะลงไปช่วยเหลือประชาชนภายใน           ๒๔ ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้รับแจ้งเหตุ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบัน มีผลการดำเนินงานตามนโยบายได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนเชิงรุกภายใน ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑,๗๓๔ คดี และมีผลการดำเนินงานภายใต้แนวคิดยุติธรรมสร้างสุข รวมทั้งสิ้น ๔๓,๔๖๒ เรื่อง

       นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ขอให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัด หรือศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ทำหน้าที่เป็นผู้แทนกระทรวงยุติธรรมในการอำนวยความเป็นธรรมในระดับพื้นที่จังหวัด โดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัดจะต้องทำหน้าที่เป็น Case Manager หรือเป็นผู้ประสานในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้โดยการประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัด และใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และผู้แทนหน่วยงานอื่นในจังหวัดเป็นกรรมการ ร่วมบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีเกินอำนาจหน้าที่หรือมีความยุ่งยากซับซ้อนให้ส่งต่อไปยังศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข (ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม) หรือหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

       “สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำกับทุกท่าน คือ การเป็นมืออาชีพในการช่วยเหลือประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมีความมั่นใจในการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงยุติธรรม เมื่อเกิดปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมประชาชนจะต้องนึกถึงสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเป็นหน่วยงานแรก และสร้างพลังการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม มีศูนย์ยุติธรรมชุมชนที่ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอำนวยความยุติธรรมและป้องกันปัญหา ทั้งนี้ ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดต้องรู้ก่อนที่รัฐมนตรีรู้ และสามารถรุกเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันที โดยไม่รอให้ประชาชนต้องร้องขอ”              นายสมศักดิ์ กล่าว

       จากนั้น เวลา ๑๓.๐๐ น. รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดอาคารบูรณาการกระทรวงยุติธรรมจังหวัดสุโขทัย ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย เพื่อเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมที่อยู่ในพื้นที่ให้มีสถานที่ทำการอยู่ในที่เดียวกัน เป็นศูนย์กลางในการให้บริการ และอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ๔ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสุโขทัย สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุโขทัย สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุโขทัย และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุโขทัย 

       นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนอยากเห็นจังหวัดสุโขทัยมีการขับเคลื่อน และพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้ร่วมกันวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เช่น เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด  ปศุสัตว์จังหวัด พัฒนาการจังหวัด สำนักชลประทาน ในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ให้พี่น้องประชาชน ดังนี้ 

       ๑) ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ได้แก่ การส่งเสริมการปลูกทุเรียน เริ่มต้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ ต้น การเลี้ยงโคเนื้อ ไก่ชน การปลูกชา เป็นต้น

       ๒) ด้านการสร้างรายได้ และสร้างอาชีพ ได้แก่  การส่งเสริมอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นจำนวน ๕๐๐ บาท ต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ GPP ประชากรในจังหวัดสุโขทัยเพิ่มขึ้นเดือนละ ๓๐๐ ล้านบาทต่อเดือน และเท่ากับ ๓,๖๐๐ ล้านบาท ต่อปี 

       ๓) การส่งเสริมระบบชลประทาน โดยสนับสนุนให้มีโครงการคลองท่อทองแดง และคลอง

แม่ระกา เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้ในการทำการเกษตร และบริโภคอย่างเพียงพอ ซึ่งประชาชนในพื้นที่อำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกลาศ จังหวัดสุโขทัย รวมทั้งจังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชรจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว

       ๔) ด้านการอำนวยความยุติธรรม โดยได้มุ่งเน้นการรับเรื่องร้องทุกข์ การเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สร้างการรับรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย รวมทั้งสร้างเครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรม ในการช่วยเหลือ ดูแลประชาชนในพื้นที่ชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันจะเป็นการสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยในระดับพื้นที่

โอกาสนี้ รมว.ยุติธรรม ยังได้เข้าร่วมกิจกรรม “ยุติธรรมจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม (CSR) และได้ศึกษาดูงานในพื้นที่ด้านปศุสัตว์ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโค ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัยอีกด้วย









  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น